เศรษฐกิจไทยสุดช้ำ โตช้ากว่าก่อนโควิด จี้แก้เชิงโครงสร้าง อาจใช้ “หลายทศวรรษ” ถึงเห็นผล

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

เศรษฐกิจไทยสุดช้ำ โตช้ากว่าก่อนโควิด จี้แก้เชิงโครงสร้าง อาจใช้ “หลายทศวรรษ” ถึงเห็นผล

Date Time: 31 ม.ค. 2567 15:38 น.

Video

เปิดทริกวางแผนการเงิน เพื่อชีวิตที่มีประสิทธิภาพ

Summary

  • KKP ชี้เศรษฐกิจไทยถึงจุดพลิกผัน ต้องแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างระยะยาว คาดปีนี้ฟื้นตัวช้า ส่วนเศรษฐกิจโลกภาพรวมชะลอตัว แนะจับตา 4 ปัจจัยสำคัญ พร้อมเปิดแผนปี 2567 ตั้งเป้าพอร์ตสินเชื่อโต 3% คุมเข้มปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อ คุมหนี้เสียไม่เกิน 3.5-3.7%

Latest


เป็นที่น่าจับตาสำหรับทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2567 นี้ ท่ามกลางความท้าทายจากทั้งปัจจัยภายนอก และภายในประเทศ โดยเฉพาะภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง อาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าหรือไม่ ด้าน กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร หรือ KKP ชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยถึงจุดพลิกผัน จำเป็นต้องแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างในระยะยาว พร้อมแนะนำให้จับตา 4 ประเด็นสำคัญในปีนี้


เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า..จับตา 4 ประเด็นสำคัญ


ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า ในปี 2567 นี้ เศรษฐกิจไทยจะยังฟื้นตัวช้า แม้การฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคท่องเที่ยว และภาคการส่งออก เป็นยังแรงขับเคลื่อนหลัก ขณะที่นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากนโยบายภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการ “ดิจิทัล วอลเล็ต” ยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่ค่อนข้างมาก หากสำเร็จจะส่งผลต่อเศรษฐกิจในระยะสั้น โดยประเมินว่าเม็ดเงิน 500,000 ล้านบาท ที่เข้าสู่ระบบจะส่งผลบวกต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยอีกราว 0.8% จากประมาณการณ์


ขณะเดียวกัน ปัจจุบันมองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจบรอบขาขึ้นแล้ว โดยคาดว่าดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะคงอยู่ที่ 2.5% เกือบตลอดทั้งปี แต่มีโอกาสปรับลดลงได้หากการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐไม่สามารถดำเนินการได้ หรือแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำกว่าที่คาดไว้


อย่างไรก็ตาม แนวโน้มเศรษฐกิจโลกปีนี้มีภาพรวมที่ชะลอตัวลง ก่อนจะฟื้นตัวในปี 2568 โดยต้องจับตา 4 ประเด็นสำคัญอย่างใกล้ชิด  ได้แก่

  1. เศรษฐกิจโลก - ทิศทางเศรษฐกิจของประเทศขนาดใหญ่กำลังเติบโตสวนทางกัน จากปัจจัยด้านอัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน โดยจะเห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังแข็งแกร่งกว่าที่คาดการณ์ไว้ ขณะที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงต่อเนื่องมากกว่าคาด
  2. อัตราดอกเบี้ย - แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยโลกผ่านจุดสูงสุด และเริ่มปรับตัวลดลง หลังอัตราเงินเฟ้อโลกเริ่มลดลง ทำให้ธนาคารกลางประเทศต่างๆ เริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาได้ ช่วยลดแรงกดดันต่อการเติบโตของเศรษฐกิจได้บ้าง แต่สหรัฐฯ ยังมีความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจ ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมากไม่ได้นัก
  3. การเมืองระหว่างประเทศ - เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกให้ผันผวนได้ค่อนข้างมาก จากผลกระทบด้านการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ขณะเดียวกันก็จะมีการเลือกตั้งระดับชาติอย่างน้อย 60 ประเทศ รวมถึงสหรัฐฯ ด้วย
  4. เศรษฐกิจไทย - การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศยังคงอ่อนแอ และยังมีแนวโน้มฟื้นตัวในอัตราที่ชะลอตัวลง แม้มีภาคการท่องเที่ยว และส่งออกเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ แต่ยังไม่สามารถฟื้นกลับไปจุดเดิมก่อนโควิด-19 ขณะที่นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจยังคงมีความไม่แน่นอน


ถึงจุดพลิกผัน..ต้องแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง


ดร.พิพัฒน์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยอยู่ในจุดพลิกผัน จากในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยมีศักยภาพการเติบโตต่ำลงเรื่อยๆ เหลือเพียง 2.2% เท่านั้น โดยเฉพาะช่วงหลังโควิด-19 โดยปัจจัยที่ส่งเสริมทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตในอดีตกำลังเจอความท้าทายทั้งหมด เช่น ภาคท่องเที่ยวที่เคยเป็นเครื่องจักรสำคัญยังไม่สามารถฟื้นตัวได้สู่จุดเดิม การส่งออกที่เดิมไทยเคยอาศัยห่วงโซ่อุปทานโลกเริ่มไม่สามารถขยายตัวได้ และสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน และเริ่มขาดดุลการค้ามากขึ้นเรื่อยๆ 


พร้อมกันนี้มองว่าสิ่งที่สำคัญคือจะแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างไร เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจระยะยาวมากขึ้น หลังปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศยังมีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งปัญหาสังคมสูงอายุ และกำลังแรงงานที่กำลังถดถอย ปัญหาคุณภาพการศึกษาที่สะสมมาตลอดหลายทศวรรษ และการลงทุนที่หายไปเกือบ 30 ปี หลังจากวิกฤติต้มยำกุ้ง


“เศรษฐกิจไทยตอนนี้เรียกว่ามาถึงจุดพลิกผัน สิ่งที่สำคัญกว่าอาจจะไม่ใช่ว่าเราไม่รู้ว่าปัญหาคืออะไร หรือจะแก้ไขอย่างไร แต่อาจจะเป็นการหาฉันทามติร่วมกันของสังคมว่าจะเริ่มแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างไร และเป็นเรื่องที่ต้องเริ่มพูดคุยกัน เพราะการแก้ไขปัญหาพวกนี้ต้องใช้เวลา อาจจะหลายทศวรรษกว่าจะเห็นผล” ดร.พิพัฒน์ กล่าว


KKP เปิดแผนปี 2567 ตั้งเป้าพอร์ตโต 3% คุมเข้มปล่อยสินเชื่อ


อภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เปิดเผยว่า ในปี 2567 นี้ KKP ยังมุ่งพัฒนาต่อยอดธุรกิจบนสามแกนหลัก คือ ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจการบริหารความมั่งคั่งและบริหารการลงทุนลูกค้าบุคคล และธุรกิจวาณิชธนกิจ โดยจะมุ่งยกระดับการให้บริการ เพื่อสร้างรายได้จากค่าธรรมเนียม ที่เป็นการใช้เงินทุนอย่างมีประสิทธิภาพ และมีความเสี่ยงด้านเครดิตต่ำ


ทั้งนี้ เพื่อสร้างการเติบโตที่เข้มแข็งจากหลายช่องทาง และมีความยืดหยุ่นรองรับพัฒนาการของระบบเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป หลังทิศทางพัฒนาการตลาดเงินและตลาดทุนของโลกชี้ให้เห็นว่าธุรกิจในปัจจุบันได้ใช้ช่องทางที่หลากหลายในการระดมทรัพยากรมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ ไม่จำกัดอยู่แต่เพียงสินเชื่อของธนาคาร 


นอกจากนี้ KKP ตั้งเป้าหมายผลประกอบการปี 2567 มีผลตอบแทนกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ (ROE) เติบโตได้ที่ระดับ 10-11% โดยพอร์ตสินเชื่อคาดว่าจะขยายตัวได้ 3% ตามการเติบโตของเศรษฐกิจที่ไม่เร่งตัว พร้อมตั้งเป้าคุมหนี้เสีย (NPLs) ที่ระดับ 3.5-3.7% โดยจะเน้นการปล่อยสินเชื่อเข้มงวดมากขึ้น และจะมีการให้ LTV ต่ำลงด้วย หลังผลประกอบการปีก่อนได้รับผลกระทบจากสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ค่อนข้างมาก.

อ่านข่าวหุ้น เศรษฐกิจ และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์