เปิดกลยุทธ์เพิ่มมูลค่าอาหารไทย อาวุธซอฟต์พาวเวอร์สร้างเศรษฐกิจ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

เปิดกลยุทธ์เพิ่มมูลค่าอาหารไทย อาวุธซอฟต์พาวเวอร์สร้างเศรษฐกิจ

Date Time: 20 ม.ค. 2567 05:30 น.

Summary

  • อาหารไทยเป็น 1 ใน 11 สาขาอุตสาหกรรมที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ตั้งเป้าให้เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จากการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และการเติมความคิดสร้างสรรค์เพื่อเพิ่มมูลค่าให้อาหารไทย ยกระดับ “ครัวไทยสู่ครัวโลก” ที่ไม่เพียงเป็นจุดแข็งในการดึงนักท่องเที่ยวเลือกมาเที่ยวประเทศไทย แต่ยังหมายถึงความสามารถในการแข่งขันส่งออกอาหารไทย รวมไปถึงการเสิร์ฟอาหารไทยผ่านเครือข่ายร้านอาหารไทยทั่วโลก

Latest

“พิชัย” เปิดเวทีชวนนักลงทุนเข้าไทย

การผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ด้านอาหาร มีเป้าหมายที่ชัดเจนซึ่ง นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ได้อธิบายกับผู้สื่อข่าวไทยรัฐกรุ๊ป ไว้ว่าซอฟต์พาวเวอร์ด้านอาหารจะสร้างอาชีพให้ประชาชนที่สนใจเป็นเชฟอาหารไทยได้ 100,000 คนภายใน 2 ปี จากโครงการ 1 หมู่บ้าน 1 เชฟอาหารไทย รองรับความต้องการของร้านอาหารไทยในต่างประเทศ ที่ภายใน 4 ปี คาดว่าจะมีร้านอาหารไทยในต่างประเทศถึง 100,000 ร้าน จากปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 20,000 ร้าน

ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนก็มองเห็นโอกาสว่า ไม่ใช่เพียงแค่ผลิตภัณฑ์อาหาร หรือเมนูอาหารที่มีโอกาสทางธุรกิจในกระแสของซอฟต์พาวเวอร์ แต่ยังส่งผลบวกไปถึงอุตสาหกรรมอาหารทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

มูลค่าอุตสาหกรรมอาหารพุ่ง

นายเจริญ แก้วสุกใส ประธานกลุ่มอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมอาหารของไทยในปี 2566 มีมูลค่ารวม 4 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น 1.55 ล้านล้านบาท เป็นเม็ดเงินจากการส่งออกผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหาร และธุรกิจร้านอาหารในต่างประเทศ ส่วนในประเทศมีมูลค่า 2.5 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้ 400,000 ล้านบาทเป็นเม็ดเงินที่เกิดจากธุรกิจร้านอาหารในไทย

มูลค่า 4 ล้านล้านบาทดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับคนไทยกว่า 25 ล้านคน ที่เป็นแรงงานด้านเกษตร โรงงานอุตสาหกรรมอาหาร รวมไปถึงร้านค้าปลีก ฟู้ดเซอร์วิส ร้านอาหาร และเครื่องดื่ม รวมไปถึงผู้ค้ารายย่อย และอาหารริมทาง หรือสตรีทฟู้ด

เจริญ แก้วสุกใส
เจริญ แก้วสุกใส

ความสำคัญของการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ด้านอาหารที่เพิ่มมูลค่าให้กับอาหารไทยนั้นจะผลักดันเม็ดเงินเศรษฐกิจอย่างได้ผล เพราะเมื่อนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวในไทยแล้ว ได้รับประทานอาหารไทย เกิดความประทับใจ เมื่อกลับไปยังประเทศของตัวเองแล้ว ก็ไปเข้าร้านอาหารไทย และหลายคนชอบถึงขั้นไปเรียนทำอาหารไทย เกิดการสั่งซื้อวัตถุดิบจากไทยเพื่อไปทำอาหารเอง กระบวนการเหล่านี้ส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าเกษตร ทั้งพืช ผักผลไม้ เนื้อสัตว์

“นักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวในไทย มีการใช้จ่ายด้านอาหาร และเครื่องดื่ม เฉลี่ย 25% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด หากการท่องเที่ยวเติบโตก็ส่งผลให้อุตสาหกรรมอาหารไทยเติบโตด้วยแน่นอน”

ความหวังนี้ทำให้ในปี 2567 ประธานกลุ่มอาหาร ส.อ.ท. ประเมินว่า เม็ดเงินจากอุตสาหกรรมอาหารจะเติบโตจากปี 2566 อย่างแน่นอน โดยเฉพาะการส่งออกที่ประเทศติดอันดับ 12 ประเทศที่มีการส่งออกสูงสุดของโลก โดยคาดว่า มูลค่าปีนี้จะเติบโตถึง 6.5% ด้วยเม็ดเงินทะลุไปถึง 1.65 ล้านล้านบาท และใกล้เป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าในปี 2573 จะติดอันดับท็อป 10 ด้วยมูลค่าส่งออกถึง 2 ล้านล้านบาท

คลังความรู้สูตรอาหารออนไลน์

มีอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวของภาคเอกชนที่น่าสนใจ ที่กำลังผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ด้านอาหารอย่างโครงการเชฟแคร์ส (Chef Cares) ที่มีผู้ก่อตั้ง และประธานโครงการคือ นางมาริษา เจียรวนนท์ ในฐานะสะใภ้ใหญ่ของครอบครัว “เจียรวนนท์” ซึ่งแต่ละปีได้จุดประกายเรื่องราวใหม่ๆของอาหารไทยให้ต่างชาติได้รู้จักมากขึ้น

นางมาริษาได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวไทยรัฐถึงซอฟต์พาวเวอร์ด้านอาหารของไทยว่า อาหารไทยมีความละเอียดลึกซึ้ง เมนูอาหารไม่ได้มีแค่อาหาร 5 ภาคเท่านั้น แต่ยังมีสูตรอาหารไทยดั้งเดิมตำรับชาววังที่ชาวต่างชาติไม่ค่อยรู้จัก อาหารไทยยังมีรสชาติอร่อย ครบรส ทั้งเปรี้ยว หวาน เค็ม เผ็ด ผสมผสานกันอย่างลงตัว เป็นจุดเด่นทำให้คนต่างชาติหลงเสน่ห์อาหารไทย จนถึงขั้นเดินทางมาท่องเที่ยวเพื่อรับประทานอาหารไทยโดยเฉพาะ

มาริษา เจียรวนนท์
มาริษา เจียรวนนท์

ที่ผ่านมาโครงการเชฟแคร์สจึงสนับสนุนศาสตร์การทำอาหารไทยอย่างต่อเนื่อง โดยทำงานร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ในการออกแบบคลังความรู้สูตรอาหารออนไลน์ และดำเนินการสนับสนุนให้ชาวต่างชาติรู้จักอาหารไทยมากขึ้น เช่น เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาได้พาเจ๊ไฝ เชฟร้านอาหารมิชลินสตรีทฟู้ด 1 ดาว ไปโชว์ฝีมือการทำอาหารไทยที่พิพิธภัณฑ์ในอิตาลี และปีที่ผ่านมาพาเจ๊ไฝไปแสดงการทำอาหารในพิพิธภัณฑ์ในเกาหลีใต้ เชื่อมโยงให้เจ๊ไฝรู้จักกับนงชิม บริษัทรามยอนชื่อดังในเกาหลีใต้

“เจ๊ไฝก็เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก และนี่เป็นซอฟต์พาวเวอร์ของเราเช่นกัน” นางมาริษากล่าวทิ้งท้าย

เรื่องราวของซอฟต์พาวเวอร์ ยังมีมุมที่น่าค้นหา สามารถติดตามได้จากงานเสวนา Soft Powerแบบไม่ซอฟต์ ในหัวข้อ Soft Power Thailand’s Next Weapon จัดโดยไทยรัฐกรุ๊ป โดยมี “แพทองธาร ชินวัตร” รองประธานยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ มาพูดคุยถึงยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย

พร้อมชวนแลกเปลี่ยนไอเดีย จากตัวแทนซอฟต์พาวเวอร์ 3 สาขา คือคุณหน่อง-อรุโณชา ผู้จัดละคร และกรรมการผู้จัดการ บริษัท บรอดคาซท์ ไทยเทเลวิชั่น จำกัด คุณปลา-อัจฉรา บุรารักษ์ ผู้ก่อตั้ง และครีเอทีฟ ไดเรกเตอร์ iBerry Group และคุณธนชาติ ศิริภัทราชัย ผู้กำกับ และนักเขียน จาก Salmon House ดำเนินรายการโดยกาย-พงศ์เกษม และ คิงส์-พีระวัฒน์ ในวันที่ 24 มกราคม เวลา 14.00 น.เป็นต้นไป ผ่านช่องทางรับชม Facebook YouTube และ Tiktok Thairath


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ