ลดดอกเบี้ยไม่แก้ปัญหาเศรษฐกิจ ธปท.ยืนยันนโยบายการเงินเดินถูกทาง

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ลดดอกเบี้ยไม่แก้ปัญหาเศรษฐกิจ ธปท.ยืนยันนโยบายการเงินเดินถูกทาง

Date Time: 16 ม.ค. 2567 07:12 น.

Summary

  • ธปท.ยันนโยบายการเงินไม่ผิดทาง ย้ำเศรษฐกิจมีปัญหาโครงสร้าง “ลดดอกเบี้ย” แก้ไม่ได้ เตรียมเรียกแบงก์มาหารือเพิ่มดูแลลูกหนี้ที่ผ่อนไม่ไหว พร้อมดูแลเข้มต้นทุน ประสิทธิภาพแบงก์ หวังลดส่วนต่างดอกเบี้ยระยะยาว แต่ออกตัวไม่ยุ่งลดดอกเบี้ยกู้ เพิ่มดอกเงินฝาก ชี้เป็นการบริหารต้นทุนของแบงก์

Latest

เจ้าหนี้การบินไทยขอเลื่อนโหวตแผนฟื้นฟู

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังมีประเด็นร้อนเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายดอกเบี้ย ส่วนต่างดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ มาต่อเนื่อง วันที่ 15 ม.ค.67 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงข่าว “เปิดแนวคิดนโยบายของแบงก์ชาติ” โดยยืนยันว่า ไม่มีความจำเป็นต้องประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) นัดพิเศษ เพื่อพิจารณาเรื่องนี้

นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวถึงการดำเนินนโยบายการเงิน ที่มองว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายสูง สวนทางเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ และควรปรับลดดอกเบี้ยเพราะเงินเฟ้อติดลบ ว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อขณะนี้ต่ำกว่าที่คาดไว้ โดยเฉพาะรายได้จากการท่องเที่ยว และการผลิตภาคส่งออก การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธปท.เป็นการมองระยะยาว และมองทุกด้าน ไม่ใช่เงินเฟ้ออย่างเดียว ยังมีภาพรวมเศรษฐกิจ และเสถียรภาพ ส่วนเงินเฟ้อที่ติดลบ ธปท.คาดการณ์ไว้แล้ว และคาดเดือน ม.ค. และเดือน ก.พ.จะติดลบอีกก่อนเพิ่มขึ้น ซึ่งดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.5% เหมาะสมต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจและรับมือกับเงินเฟ้อ

“การใช้นโยบายการเงิน หรือการลดดอกเบี้ยไม่ได้แก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ทั้งหมด โดยเฉพาะปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่หลังโควิด เศรษฐกิจไทยขยายตัว ช้ากว่าประเทศอื่น อาจเป็นเพราะขาดความสามารถในการแข่งขันในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะการส่งออก รวมทั้งไม่มีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางการท่องเที่ยว ทำให้ขาดความน่าสนใจ”

ส่วนเมื่อเศรษฐกิจมีความเสี่ยง เงินเฟ้อติดลบ ทำไมยังขึ้นดอกเบี้ย นายปิติ กล่าวว่า นโยบายการเงินไม่ได้เดินมาผิดทาง เพราะเมื่อ 2 ปีก่อนที่เงินเฟ้อสูงมาก กนง.ก็ไม่ได้ขึ้นดอกเบี้ยทันที เพราะเงินเฟ้อสูงเกิดจากราคาพลังงาน และอาหารสูง ไม่ได้เกิดจากความต้องการซื้อหรือเศรษฐกิจที่ร้อนแรง ส่วนขณะนี้เงินเฟ้อติดลบก็มาจากราคาพลังงาน และอาหารลดลง รวมทั้งมาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของภาครัฐ

“ทิศทางดอกเบี้ยจะเป็นอย่างไร กนง.จะพิจารณาจากข้อมูลล่าสุดที่มี แต่การลดดอกเบี้ยก็มีต้นทุนเช่นกัน คือ ด้านเสถียรภาพ และการก่อหนี้ที่มากเกินไป ธปท.พยายามให้ดอกเบี้ยไม่สูงเกินไป จนกระทบการขยายตัวเศรษฐกิจ และไม่ต่ำเกินไปจนจูงใจให้เกิดการก่อหนี้เกินตัว ที่ผ่านมาสิ่งที่ กนง.ทำคือถอนคันเร่งนโยบายการเงิน ทำให้ดอกเบี้ยสมดุลต่างจากธนาคารกลางต่างประเทศที่ทำเพื่อให้เศรษฐกิจชะลอตัว”

ด้าน น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวถึงกรณีที่สังคม นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลังมองว่า ดอกเบี้ยไทยสูงเกินไป และกำไรธนาคารพาณิชย์สูงว่า ธปท.ได้คุยกับธนาคารพาณิชย์ให้ดูแลผลกระทบ ไม่ให้ดอกเบี้ยขึ้นเร็วและแรง รวมทั้งหามาตรการดูแลลูกหนี้เฉพาะจุด โดยเฉพาะดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ที่คิดกับรายย่อยและเอสเอ็มอี พบว่า การส่งผ่านจากดอกเบี้ยนโยบายไป MRR น้อยกว่าครั้งอื่นประมาณ 49% หรือดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 2% ดอกเบี้ย MRR ขึ้นราว 1%

ส่วนดอกเบี้ยเงินฝากนั้น ธนาคารปรับขึ้นสำหรับเงินฝากระยะยาว ประมาณ 63% ของการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย หรือคิดเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 1% กว่าๆ แต่ดอกเบี้ยออมทรัพย์ยังขึ้นน้อยมาก แต่ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ย เป็นกลไกบริหารสินทรัพย์ หนี้สิน ของแต่ละธนาคาร ซึ่ง ธปท.ต้องดูไม่ให้ธนาคารคิดดอกเบี้ยทบเงินต้น รวมทั้งต้องดูต้นทุนของธนาคารที่กล่าวอ้าง มาจากการไม่มีประสิทธิภาพดำเนินธุรกิจหรือไม่ ซึ่งจะปรับลดส่วนต่างตรงนี้ให้มีแนวทางยั่งยืน และต้องสร้างการแข่งขันระยะยาว “จะเรียกธนาคารพาณิชย์มาหารือมากขึ้น เพื่อดูแลลูกหนี้ให้มากกว่านี้ เช่น กลุ่มเปราะบาง หรือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากเงินกู้ แม้แต่เรื่องต้นทุนดอกเบี้ย และค่าใช้จ่าย ต่างๆ ส่วนประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ขอให้มาปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้ได้เวลาผ่อนส่งมากขึ้น”.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ