ราคาบ้านแพง! สวนรายได้ กลุ่ม “คนโสด-คู่รัก No Kids“ พุ่ง เทรนด์ใหม่ แชร์บ้านกับคนแปลกหน้า

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ราคาบ้านแพง! สวนรายได้ กลุ่ม “คนโสด-คู่รัก No Kids“ พุ่ง เทรนด์ใหม่ แชร์บ้านกับคนแปลกหน้า

Date Time: 14 ม.ค. 2567 11:06 น.

Video

ล้วงไส้ TEMU อีคอมเมิร์ซจีน บุกไทย ทำไมอาจสร้างวิบากกรรมกว่าที่คิด ? | Digital Frontiers

Summary

  • ราคาบ้านแพง ปรับตามราคาที่ดิน สวนทางรายได้ของคนยุคใหม่ ขณะกลุ่ม “คนโสด-คู่รัก No Kids“ แนวโน้มพุ่ง ส่งผลเทรนด์เช่าบ้านอยู่อาศัยมากกว่าซื้อ มาแรงทั้งในไทย เอเชีย และสหรัฐฯ โจทย์ใหญ่ผู้พัฒนาโครงการ พบรูปแบบบ้านคนโสด แชร์บ้านกับคนแปลกหน้า ได้รับความสนใจมากขึ้น

Latest


ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คนในสังคม หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 จบลง นำมาซึ่งแนวโน้มการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ในปี 2567 ที่ต่างไปจากอดีตเช่นกัน ข้อมูลน่าสนใจของ “แอล ดับเบิลยู เอส วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น” หรือ LWS ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือบริษัท แอล พี เอ็น ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ปัจจุบัน “ราคาที่อยู่อาศัย” ยังมีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

ซึ่งเป็นผลมาจาก “ราคาที่ดิน” ที่ปรับตัวสูงขึ้น ผนวกกับราคาวัสดุก่อสร้าง ราคาพลังงาน และต้นทุนดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ทำให้ราคาที่อยู่อาศัยปรับตัวสูงขึ้น สวนกับความสามารถในการสร้างรายได้ของผู้บริโภคในปัจจุบัน จากสถานการณ์ดังกล่าวนี่เอง ทำให้การซื้อที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มลดลง 

คนแห่ “เช่า” ที่อยู่อาศัย มากกว่า “ซื้อ”

ย้อนไปปี 2565 ตลาดคอนโดมิเนียม (กทม.-ปริมณฑล) มีมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์สัดส่วนหดลงมาอยู่ที่ 34% จากเดิมเคยสูงถึง 45% ของ 6.5 แสนล้านบาท ทำให้กระแส “การเช่าที่อยู่อาศัย” เกิดความนิยมสูงขึ้นมาก กลายเป็น 1 ในโจทย์สำคัญของการพัฒนาอสังหาฯ ในปีนี้ 

เนื่องจากเมื่อเปรียบเทียบความคุ้มค่าระหว่างการเช่ากับซื้อ พบว่าจากราคาขายคอนโดมิเนียม กทม.-ปริมณฑล มีการปรับเพิ่มเทียบกับปี 2561 ถึง 29% ในขณะที่อัตราค่าเช่ากลับมีทิศทางที่ลดลงประมาณ 7% ส่งผลให้ทิศทางการเลือกคอนโดมิเนียมในรูปแบบการเช่าไตรมาส 1 ปี 2566 เพิ่มขึ้นถึง 56% เมื่อเทียบกับความต้องการซื้อที่ลดลงราว 5%

ส่งผลให้เข้าสู่ยุค Generation Rent ที่เน้นการเช่ามากกว่าซื้อ โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่อย่าง Gen Z (First Jobber), Gen Y ที่มีสถานะเป็นผู้เช่ามากกว่า 50% และมีอัตราค่าเช่าเฉลี่ย 6,000-9,000 บาท/เดือน โดยที่มีสัดส่วนรายได้เฉลี่ยต่อเดือนอยู่ในช่วง 20,000-40,000 บาท และมีสถานภาพโสดมากกว่า 70% สะท้อนถึงพฤติกรรมคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ชอบอยู่คนเดียว, ชอบความสะดวกสบาย, ชอบเทคโนโลยี หรือนวัตกรรมใหม่

ทั้งนี้ จากพฤติกรรมและความต้องการของผู้ซื้อที่อยู่อาศัยที่เปลี่ยนไป ทำให้เกิดเทรนด์ Build-to-Rent (BTR) หรือการสร้างบ้านให้เหล่าคนโสดมารวมตัวกัน ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งการแชร์บ้านกับคนแปลกหน้า หรือการรวมตัวกันของกลุ่มเพื่อนแก๊งคนโสด 

เทรนด์เช่าบ้าน มาแรงในเอเชีย-สหรัฐฯ


ขณะเดียวกัน วัฒนธรรมการเช่าบ้านนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในจีน เอเชีย และสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี 2561 รวมไปถึงคู่สมรสที่ไม่อยากมีลูก โดย 60% ให้เหตุผลว่าการไม่มีลูกทำให้มีเงินเก็บเพื่อนำไปท่องเที่ยว และ 74% บอกว่าการมีสัตว์เลี้ยงก็ช่วยเติมเต็มสมาชิกในครอบครัวได้ ก็ต้องการที่อยู่อาศัยในรูปแบบของการเช่ามากขึ้น

เช่นเดียวกับเทรนด์ Solo Service จากรูปแบบการใช้ชีวิตที่ต้องการอิสระ อยู่เป็นโสด และเดินทางคนเดียวมากขึ้น ทำให้ความต้องการที่จะได้รับบริการสำหรับลูกค้าที่มาเพียงลำพัง จึงเป็นบริการที่ได้รับความนิยมมากขึ้น เช่น ร้านอาหารที่มีพื้นที่สำหรับการนั่งคนเดียว หรือการออกแบบพื้นที่สำหรับคนโสด แต่ต้องการได้บรรยากาศที่เชื่อมต่อกับผู้คนภายนอก เช่น Co-working Space หรืออพาร์ตเมนต์สำหรับคนโสด ก็มีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น


“การออกแบบที่ตอบโจทย์ผู้คนในยุคนี้ คือการออกแบบพื้นที่ส่วนกลางที่สามารถรองรับ “การใช้งานคนเดียวท่ามกลางผู้คนในพื้นที่ส่วนรวม” มีบรรยากาศที่ผ่อนคลาย มีการออกแบบที่รองรับการใช้งานของผู้สูงอายุและคนทุกวัย ในขณะที่พื้นที่พักอาศัยควรคำนึงถึงการอยู่อาศัยของคนโสด ตอบรับตลาดการเช่า และครอบครัวที่มีสัตว์เลี้ยงมากขึ้น” ประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ LWS กล่าวทิ้งท้าย 

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่ 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์