“ธุรกิจธนาคาร” กำไรมาก-น้อย ขึ้นอยู่กับอะไร? เปิดบทวิเคราะห์ ปี 67 คาดรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ ยังพุ่ง!

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

“ธุรกิจธนาคาร” กำไรมาก-น้อย ขึ้นอยู่กับอะไร? เปิดบทวิเคราะห์ ปี 67 คาดรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ ยังพุ่ง!

Date Time: 8 ม.ค. 2567 11:39 น.

Video

คนไทยจ่ายภาษีน้อย มนุษย์เงินเดือนรับจบ ปัญหาอยู่ที่ระบบหรือคนกันแน่ ? | Money Issue

Summary

  • กำไรแบงก์ 2.2 แสนล้าน ตัวเลขย้อนแย้ง เศรษฐกิจไทยปี 66 กับ ข้อถกเถียงใหญ่ของสังคม เมื่อถูกเปรียบ เป็น “ธุรกิจเสือนอนกิน” ดอกเบี้ยแพง ดันกำไรพีก เปิดตัวแปร การขึ้น-ลง ของ กำไรธนาคารพาณิชย์ ขณะคาดแนวโน้ม ปี 67 ผลประกอบการยังโตต่อ ตามการเติบโตของสินเชื่อและรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้น

Latest


ยังคงเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ อย่างวงกว้าง หลังปรากฏข่าวใหญ่ของประเทศไทย “8 แบงก์ ทำกำไรปี 2566 ทุบสถิติ รวมกันกว่า 2.2 แสนล้านบาท” ซึ่งถูกวิเคราะห์ว่า มาจาก อานิสงส์ของ “ดอกเบี้ยขาขึ้น” ในช่วงปีที่ผ่านมา จนดันให้ ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิพุ่งสูงขึ้นมาเช่นนี้ และ นำโดย กำไรของธนาคารกสิกรไทย และ ธนาคารกรุงเทพ อยู่หัวตาราง 

อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ ถูกตั้งคำถามตามมาหลายแง่ โดยเฉพาะ การเปิดหน้า ของ คอลัมนิสต์ดัง : หนุ่มเมืองจันท์ กับวิวาทะ “เศรษฐกิจแย่ แต่ทำไมแบงก์กำไรทุบสถิติ” พร้อมเรียกร้อง ให้ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตอบคำถามสังคม เนื่องด้วย เห็นความผิดเพี้ยนระหว่างสภาพเศรษฐกิจที่เป็นจริง กับ รายได้-ผลกำไร ของกลุ่มธุรกิจธนาคาร ในรอบปีล่าสุด 

โยนคำถาม GDP ขยายต่ำ แต่ทำไม แบงก์กำไรสูง? 

พร้อมหยิบยกข้อมูลให้เห็นภาพตาม หลัง ธปท.บอกว่าปี 2566 จีดีพีไทย ขยายตัวได้ประมาณ 2.4% แต่พบธุรกิจธนาคารที่คุมระบบการเงินของประเทศเติบโตสูงถึง 18.5% หรือ สูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศถึงเกือบ 8 เท่าตัว เป็นไปได้อย่างไร?

นอกจากนี้ ยังมีโพสต์ดุเดือด ดึงความสนใจ ออกมาจาก อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” ที่ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ที่ระบุในโซเชียลมีเดียเช่นกันว่า 

“ธุรกิจ ที่แข่งขันต่ำ รวมหัวกัน ทำกำไรสูง บนความวินาศของลูกค้า ถือว่าน่ารังเกียจนัก ขอตำหนิผู้มีหน้าที่กำกับดูแล”

ซึ่งหากย้อนไป นี่ไม่ใช่ครั้งแรก ที่ กิตติรัตน์ โพสต์เดือด เกี่ยวกับ การทำกำไรของแบงก์ เพราะเมื่อ 19 ธ.ค. 2566 อดีตรัฐมนตรีคลังคนดังกล่าว ก็เคยออกมาแนะให้ แบงก์พาณิชย์ลดดอกเบี้ย สาเหตุเนื่องจากขณะนี้ ดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ในระดับสูง สร้างส่วนต่างดอกเบี้ยรับสุทธิ (NIM) ในระดับที่สูงมาก จนสร้างผลกำไรในระดับที่สูง หลังปรากฏข่าว : “แบงก์พาณิชย์ทำกำไร Q3 รวมกัน 6.5 หมื่นล้าน โตแรง 8.3% แซงจีดีพีขยายตัว 1.5%”


นายกฯ โพสต์ หวังว่า แบงก์ชาติจะไม่ขึ้นดอกเบี้ย สวน เงินเฟ้อ


ล่าสุด (7 ม.ค. 2567) นายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” โพสต์ X ตอกย้ำ ความเห็นต่าง ระหว่างรัฐบาล กับ นโยบายทางการเงิน ที่อยู่ในการดูแลของ ธปท. โดยคาบเกี่ยวกับประเด็นกำไรแบงก์ที่เป็นกระแสอยู่ในตอนนี้ว่า…

“จากการที่แบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยทั้ง ๆ ที่เงินเฟ้อติดลบติดต่อกันหลาย ๆ เดือนนั้น ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจเลย และยังมีผลกระทบต่อ ประชาชนที่มีรายได้น้อย และ SME อีกด้วย 

ผมจึงอยากให้กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูราคาสินค้าเกษตรบางชนิดให้เหมาะสม เพราะอาจจะต่ำไปก็ได้ และหวังว่าแบงก์ชาติจะช่วยดูแลประชาชนไม่ขึ้นดอกเบี้ยสวนทางกับ เงินเฟ้อนะครับ”


ธนาคารพาณิชย์ คือ เสือนอนกิน จริงหรือไม่?

สำนวน “เสือนอนกิน” ที่หมายถึง คนที่ได้รับผลประโยชน์ หรือกำไรโดยที่ตนเองไม่ต้องลงทุนลงแรงใดๆ ถูกนำมาเปรียบเทียบ อธิบายกับบริบทของธุรกิจแบงก์ ที่เกิดขึ้นในเวลานี้ อีกครั้ง  


โอกาสนี้ #ThairathMoney ชวนมาไขข้อข้องใจ ว่า ธนาคารพาณิชย์ เป็น ธุรกิจเสือนอนกินจริงหรือไม่? โดย หยิบยกข้อความจาก ปุณยวีร์ จันทรขจร (โค้ชเป๊ก) Full Time Trader วิทยากรด้านการลงทุนชื่อดังของไทย ที่อธิบายไว้อย่างน่าสนใจ ว่า วาทกรรมดังกล่าว มีทั้งส่วนที่จริง และ ไม่จริงอยู่ ดังใจความต่อไปนี้…


ธนาคารพาณิชย์คือเสือนอนกินจริงมั้ย? ตอบไวๆ ก็คงใช่ครับ เเต่มันก็มีที่มาที่ไปของมัน มองธุรกิจธนาคารให้ง่าย มองให้เป็นเหมือน "พ่อค้าเงิน" รายได้ของคนทำธุรกิจมันมาจากสองส่วน

  • ส่วนแรก คือ วอลุ่ม 
  • ส่วนที่สอง คือ มาร์จิ้น 

วอลุ่มโต × มาร์จิ้นโต เเบบนี้ธุรกิจยั่งยืน

วอลุ่มโตของธนาคารคือ Loan Growth 

มาร์จิ้นโตของธนาคารคือ NIM 

ไล่ดูงบแบงก์มาหลายๆ ไตรมาสจะเห็นว่าค่าเฉลี่ย Loan Growth แทบไม่โต แสดงว่ายอดกู้ไม่ได้เพิ่ม สะท้อนว่าเศรษฐกิจเราหยุดนิ่งจริงๆ เพราะอัตราการโตของแบงค์มักจะไปตามการโตของจีดีพี 

แต่ที่ผ่านมา NIM เพิ่มขึ้นจากเทรนด์ดอกเบี้ยขาขึ้น ทำให้แบงก์ได้ประโยชน์ในฝั่งมาร์จิ้นที่เพิ่มขึ้น พอรายรับดอกเบี้ยเงินกู้ขึ้นเยอะ เเต่ดอกเบี้ยเงินฝากขึ้นไม่มาก ไอ้ส่วนต่างกำไรตรงนี้ เลยมีคนเปรียบเหมือนเสือนอนกิน 

นอกจากเทรนด์ดอกเบี้ยขาขึ้นที่ทำให้ NIM สูงขึ้นเเล้ว ที่กำไรมันเยอะเพราะแบงก์อาจมีรายได้ค่า Fee อื่นๆ + ชาร์จดอกเบี้ยได้สูงขึ้น ลองคิดภาพเจ้าของกิจการที่เงินสดตึงเปรี๊ยะ 


ออกหุ้นกู้ก็ไม่ได้ หรือออกไปเเล้วขายไม่หมดสุดท้ายต้องกลับมาขอ Credit Line กับแบงก์ เป็นแบงก์ก็ต้องคิด Risk Premium เพิ่มไปอีกเพราะไม่รู้ว่าปล่อยกู้ไปจะได้คืนมั้ย เพราะถ้าปล่อยไปมันแย่แล้วกลายเป็นหนี้เสียขึ้นมา แบงก์จะซวยซะเอง 

มันสำคัญตรงนี้ที่ว่าเรามองประเด็นนี้เป็นอะไร ระหว่าง "มนุษยธรรม" ของเพื่อนมนุษย์ด้วยกันหรือเป็น "โมเดลธุรกิจ" ของพ่อค้าเงินในการคุมความเสี่ยง มันมองได้สองแง่

แต่ทั้งหมดทั้งปวง มันบอกเราเป็นนัยๆ เเล้วว่า ผู้ประกอบการกำลังตึงสุดๆ ถึงขนาดต้องยอมจ่ายดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่าปกติเพื่อเอาเงินสดมาประคองตัวให้ได้ คำถามจึงอาจต้องกลับไปในจุดที่ใหญ่กว่าแบงก์คือ มันมีมาตรการอะไรบ้างที่เข้ามาช่วยตรงนี้ 

ใครจะเป็นคนแบก ใครจะเป็นคนยิงเงินเข้ามาในระบบ ในวันที่คนกู้มีโอกาสสูงมากในการไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด คลังต้องยิงเงินเข้ามาเลยมั้ย.. เเล้วไปแบก Debt to GDP เเทน 

เเบงก์ต้องลด Coverage Ratio มั้ย .. เเล้วไปเเบกความเสี่ยงลูกหนี้ไว้เอง 

ลองตีความกิจการธนาคารจากราคาหุ้น 

การที่หุ้นแบงก์ #ปันผลดี มันมีที่มาที่ไป 

จากการคุมความเสี่ยงได้ดี

แต่การที่หุ้นแบงก์ #ราคาไม่ไปไหน มันมีที่มาที่ไป

จากการที่ต้องรับความเสี่ยงทุกด้านเช่นกัน 

ยิ่งดูภาพรวมๆ ตอนนี้ของเศรษฐกิจไทยที่สุ่มเสี่ยง

  • สินเชื่อเกษตรกร 
  • สินเชื่อพ่อค้าเเม่ค้า 
  • สินเชื่อมอเตอร์ไซค์ 
  • สินเชื่อรถยนต์ 
  • สินเชื่อบ้าน 
  • สินเชื่อคอนโด 

หวยไปออกตัวไหนบอกยากมาก

ผมเลยเข้าใจในมุมเเบงก์.. ต้องสำรองเผื่อไว้ก่อนเพราะไม่รู้อะไรจะเกิดขึ้น ไอ้สำนวนที่ว่าธนาคารชอบให้ยืมร่มวันแดดออกเเต่คิดค่าร่มแพงมากในวันที่ฝนตก เป็นเรื่องที่ไม่เกินจริง เพราะมันคือโมเดลธุรกิจเค้าเลย 

ผมเข้าใจในมุมผู้ถือหุ้น .. เพราะ NIM ที่สูงขึ้น ทำให้ ROE สูงขึ้น >> ROE ที่สูงขึ้น ทำให้ Book Value สูงขึ้น >> Book Value ที่สูงขึ้น คือโอกาสให้ราคาหุ้นขึ้น >> ยิ่งตั้งสำรองไว้เเล้วสูงๆ ยิ่งปลอดภัยในฐานะ Sharesholder ที่อยากลงทุนในกิจการที่แข็งเเรง และผมเองก็เข้าใจในมุมผู้ประกอบการ.. 

ขายของได้มั้ยก็ไม่รู้ ครอบครัวต้องรับผิดชอบ ลูกน้องก็ต้องดูเเล ของมันขายไม่ได้ เงินสดมันหายไปเยอะ แต่ดอกเบี้ยวิ่งทุกวันไม่มีวันหยุด แล้วจะให้ทำไง? เลยกลับมาที่เรื่องเดิมว่าใครจะเป็นคน "แบก" ความเสี่ยงนี้ไว้ 


กำไรแบงก์มาก - กำไรแบงก์น้อย ขึ้นอยู่กับอะไร? เปิดตัวแปรปีที่ผ่านมา


ย้อนไปเมื่อต้นปี 2566 ธุรกิจแบงก์ หรือ ธุรกิจธนาคาร ถูกวิเคราะห์จากคนในวงการเดียวกัน (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย) ว่า จะมีการเติบโต บนความท้าทายหลายด้าน เพราะ ธุรกิจหลักของธนาคาร นอกเหนือจากการรับฝากเงินจากลูกค้าแล้ว คือ การปล่อยสินเชื่อ และ ดอกเบี้ย ซึ่งจะเป็นช่องทางการเข้ามาของรายได้ของธุรกิจ แต่หลายตัวแปร แนวโน้มไม่สดใส ซึ่งมีผลต่อ กำไรของแบงก์ เช่นกัน ได้แก่ 

  • สินเชื่อ : คาดการณ์สินเชื่อในปี 2566 ว่าจะเติบโตในกรอบที่จำกัดประมาณ 4.7% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยเติบโตจากสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่และกลาง เพราะมีความสามารถในการรับมือวิกฤติได้ดีกว่า อีกทั้งการฟื้นตัวของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว สุขภาพ การส่งออก และ ค้าปลีก ก็ยังให้ผลเชิงบวกได้ดีกว่าธุรกิจรายย่อย
  • NPL หรือ หนี้เสีย : ยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลง นอกจากนี้ยังไม่มีมาตรช่วยเหลือพิเศษให้กับลูกหนี้ทั่วไป ทำให้การจะลด NPL จึงต้องฝากความหวังที่การปรับโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินแต่ละแห่ง
  • การขึ้นดอกเบี้ย : การปรับขึ้นดอกเบี้ยปี 2566 ในขณะที่ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าฟื้นตัวจำกัด จะมีผลบวกที่น้อยลงต่อส่วนต่างดอกเบี้ย (%NIM)
  • ภาระการตั้งสำรองฯ : ใน 2566 ไม่สามารถที่จะลดลงได้มาก จากสถานการณ์สภาพแวดล้อมที่ยังไม่นิ่ง และ NPL ที่สูงกว่าประเทศอื่น ทำให้กดดันการฟื้นตัวของ ROE และ ภาพรวมกำไรสุทธิของธุรกิจธนาคาร

นั่นจึงทำให้ ธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย ต้องเร่งแสดงหาธุรกิจใหม่เพื่อเพิ่มโอกาสในการเติบรายได้รูปแบบใหม่ๆ ในอนาคต แม้หนี้ครัวเรือนจะยังอยู่ในระดับสูง แต่ด้วยโจทย์การช่วยเพิ่มการเข้าถึงสินเชื่อ และ ขยายโอกาสทางธุรกิจ ธนาคารพาณิชย์ของไทย ยังเดินทางที่จะปล่อยสินเชื่อดิจิทัล (Digital Lending) อีกทั้ง ยังเห็นการให้น้ำหนักกับการพัฒนาธุรกิจด้านอื่นๆ เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม สังคม และ ธรรมาภิบาล (ESG), สินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Access), ธุรกิจต่างประเทศ ตลอดจนธุรกิจอื่นๆ ที่ไม่ใช่ธุรกิจการเงินโดยตรง เช่น ธุรกิจอาหาร หรือ ธุรกิจสันทนาการ 


โดยทั้งหมดเป็นการย้ำถึงทิศทางของธุรกิจแบงก์ที่วิ่งสู่ Beyond Banking Business ในอนาคต ซึ่งจะทำให้ธนาคารพาณิชย์ไทยน่าจะมีส่วนผสมของรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย และ รายได้จากการถือหุ้นในกิจการที่ตั้งใหม่เพิ่มขึ้นในอนาคต


เปิดแนวโน้ม ธุรกิจธนาคาร ปี 2567 

ขณะทิศทางของธุรกิจแบงก์ในปี 2567 จะเป็นอย่างไรนั้น พบ บทวิเคราะห์ของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ออกคาดการณ์ไว้ว่า ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในปี 2567 จะมีแนวโน้มเติบโตดีต่อเนื่อง จากปีก่อน ตามการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่าจะหนุนให้ยอด สินเชื่อขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจที่มีความต้องการใช้ เงินทุนหมุนเวียนเพิ่มขึ้น หลังจากมีความชัดเจนของนโยบายการลงทุน ภายหลังที่มีการจัดตั้งรัฐบาลและการส่งออกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวตาม เศรษฐกิจโลก 

ขณะที่สินเชื่อรายย่อยมีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ชะลอลง จากแรงกดดันของหนี้ครัวเรือน รวมถึงมาตรการควบคุมหนี้ครัวเรือนของ ธปท. และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงจะกดดันความสามารถในการ ชำระหนี้ในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะครัวเรือนบางกลุ่มที่รายได้ฟื้นตัวช้า ส่งผลให้สถาบันการเงินยังมีความเข้มงวดในการให้สินเชื่ออยู่ ด้านผลประกอบการของกลุ่มธนาคารพาณิชย์คาดจะปรับตัวดีขึ้น ต่อเนื่อง ตามการเติบโตของสินเชื่อและรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้น 


โดย การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากทำให้ ธนาคารจะมี NIM เพิ่มขึ้น ขณะที่ด้านรายจ่าย ธนาคารอาจมีการปรับการ ตั้งสำรองเพิ่มขึ้นเล็กน้อยตามสินเชื่อด้อยคุณภาพที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นไม่ มากนัก จากแรงหนุนของมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และการติดตามลูกหนี้ กลุ่มเปราะบางอย่างใกล้ชิด


อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องในปีนี้ ส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น ซึ่งจะกดดันการเติบโตของยอด สินเชื่อรวมและความสามารถในการชำระหนี้ อีกทั้งธุรกิจธนาคารยังมีการแข่งขันที่สูงขึ้นมากจากทั้งธุรกิจธนาคารแบบดั้งเดิมและผู้ให้บริการ ทางการเงินรายใหม่ที่เข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดมากขึ้น ธนาคารพาณิชย์จะต้องใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือหลักในการปรับกลยุทธ์ ผลิตภัณฑ์และบริการ รวมถึงการจัดการภายในองค์กรเพื่อให้พร้อมรับมือ กับการแข่งขันในด้านต่างๆ ต่อไป

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่ 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ