นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง แถลงภายหลังเป็นประธานประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบมาตรการลดค่าใช้จ่ายราคาพลังงาน โดยพยายามตรึงราคาดีเซลไว้ที่ 30 บาทต่อลิตร ขณะที่ค่าไฟฟ้าจะไม่เกินหน่วยละ 4.20 บาท แต่ต้องขอดูค่าก๊าซอีกที ว่าจะลงไปเท่าไร ซึ่งจะยังไม่ประกาศ แต่ยืนยันว่าจะให้ไม่เกิน 4.20 บาทแน่นอน น่าจะเป็นข่าวดี ขอให้ฟังประกาศอีกครั้ง ส่วนการพบกับนายฮุน มาเนต นายกฯกัมพูชา ในระหว่างการประชุมอาเซียน-ญี่ปุ่น ที่ประเทศญี่ปุ่นนั้น ได้พูดคุยเรื่องพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลว่าขั้นตอนต่อไปจะเป็นอย่างไร แต่ขอให้มีรายละเอียดที่ดี ที่พร้อมก่อนแล้วจะแถลงอีกครั้ง
ด้านนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายก รัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน กล่าวว่า ครม.เห็นชอบ มาตรการลดค่าครองชีพให้ประชาชน ด้วยการตรึงค่าไฟฟ้า งวดใหม่ เดือน ม.ค.-เม.ย.67 สำหรับครัวเรือนที่ใช้ไฟน้อยกว่า 300 หน่วยต่อเดือน จำนวน 17 ล้านครัวเรือน โดยจะตรึงค่าไฟฟ้าไว้ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย ส่วนกลุ่มที่ใช้เกิน 300 หน่วยต่อเดือนนั้น ครม.ได้ปรับลดลงเหลือไม่เกิน 4.20 บาทต่อหน่วย จากเดิมที่คณะกรรมการกำกับกิจการไฟฟ้า (กกพ.) กำหนดที่ 4.68 บาทต่อหน่วย แต่ลดลงในอัตราเท่าใด กระทรวงพลังงานจะขอพิจารณาราคาก๊าซในตลาดโลก ช่วงวันที่ 1 ม.ค.67 อีกครั้ง ถ้าประกาศตอนนี้แล้วราคาลดลงมาอีก จะทำให้สับสน ขอให้รอก่อน แต่ไม่เกิน 4.20 บาทต่อหน่วยแน่นอน
ขณะเดียวกัน ครม.ยังเห็นชอบตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตรที่มาตรการปัจจุบันจะสิ้นสุดเดือน ธ.ค.นี้ และตรึงราคาแก๊สหุงต้ม (แอลพีจี) 423 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม (กก.) เป็นเวลา 3 เดือน เริ่มเดือน ม.ค.-มี.ค.67 ส่วนราคาเบนซินยังไม่สิ้นสุดมาตรการ แต่เมื่อสิ้นสุดแล้ว กระทรวงพลังงานจะพิจารณาอีกครั้ง
ส่วนนางรัดเกล้า สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน ที่กระทรวงพลังงานนำเสนอ ครม. ประกอบด้วย 1.มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันเชื้อเพลิง โดยตรึงราคาดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตร ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-มี.ค.67 กระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลังจะร่วมกันบริหารการขายปลีก โดยใช้กลไก ของภาษีสรรพสามิตและกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ขณะเดียวกันให้ตรึงราคาขายปลีกแอลพีจี ที่ 423 บาทต่อถัง 15 กก. ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 มี.ค.67 โดยกระทรวงพลังงานบริหารผ่านกองทุนน้ำมัน
2.มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้า ช่วยเหลือค่าไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง 21 สตางค์ต่อหน่วย โดยกำหนดเป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าก่อนคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม คาดมีผู้ได้รับการช่วยเหลือ 17.77 ล้านราย ใช้งบประมาณ 487.50 ล้านบาทต่อเดือน รวม 1,950 ล้านบาท สำหรับ 4 เดือน คาดจะใช้เงินจากงบประมาณปี 66 งบกลางรายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 1,950 บาทไปพลางก่อน
นอกจากนี้ ครม.มีมติให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) บริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ให้มีการปรับราคาก๊าซธรรมชาติเข้าและออกจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติเป็นราคา Pool Gas ซึ่งเป็นราคารวมก๊าซธรรมชาติจากแหล่งอื่นๆ เพื่อให้เกิดผลทางปฏิบัติ ส่งผลให้ราคา Pool Gas โดยรวมลดลง และต้นทุนผลิตไฟฟ้าลดลง ทั้งนี้ ยกเว้นก๊าซธรรมชาติที่นำไปใช้ในการผลิตแอลพีจีสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิง ให้ใช้ต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติเท่ากับราคาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย (Gulf Gas)
น.ส.รัดเกล้ากล่าวว่า ครม.ยังมอบหมายให้ กกพ.ตรึงค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บกับผู้ใช้ไฟฟ้ารอบเดือน ม.ค.-เม.ย.67 ไม่เกิน 4.20 บาทต่อหน่วย และให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับภาระเงินคงค้างสะสม สำหรับงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.67 แทนผู้ใช้ไฟฟ้าไปพลางก่อน รวมถึงให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ส่งผ่านราคาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย กรณีที่ผู้ผลิตไม่สามารถส่งมอบก๊าซธรรมชาติได้ตามเงื่อนไขในสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ (Shortfall) ตลอดจนให้ ปตท. ทบทวนปรับปรุงข้อมูลสมมติฐานปริมาณและราคาก๊าซธรรมชาติในการคำนวณค่าไฟฟ้าให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อนำเสนอ กกพ.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่