ธนาคารโลก (World Bank) เปิดตัวรายงานตามติดเศรษฐกิจไทย ประจำเดือนธันวาคม 2566 Thailand Economic Monitor December 2023 โดยมี ดร.เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก นำเสนอเรื่องแนวโน้มเศรษฐกิจไทย: แนวทางในการฟื้นตัว ท่ามกลางความท้าทายทั่วโลก
โดนมีประเด็นที่น่าติดตามดังนี้
เมื่อเปรียบเทียบการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) หลังช่วงโควิด-19 ของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน พบว่า ประเทศไทยมีการเติบโตของ GDP ต่ำที่สุดในอาเซียน โดยมีช่องว่างการเติบโตระหว่างเศรษฐกิจไทยและอาเซียนอยู่ที่ประมาณ 7-10% สะท้อนถึงการฟื้นตัวที่ช้ากว่าประเทศอื่นในภูมิภาค ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจโลก และส่งผลบวกกับบางประเทศในภูมิภาค
เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย ที่ได้รับอานิสงส์จากสินค้าโภคภัณฑ์ที่ราคาสูงขึ้น
เวียดนามที่ได้รับอานิสงส์ จาก Global Value chain รวมถึงอุปสงค์ภายในประเทศที่เติบโตขึ้นในฟิลิปปินส์
ในขณะที่ไทยมีความเปราะบางเชิงโครงสร้าง เพราะพึ่งพารายได้จากภาคการท่องเที่ยวสูง โดยคิดเป็นสัดส่วน 13% ต่อ GDP และมีการนำเข้าพลังงานสูงที่สุดในอาเซียน คิดเป็นสัดส่วน 7% ของ GDP
ไทยมีความยั่งยืนทางการคลังสูงเมื่อเทียบกับประเทศอาเซียน ทั้งนี้ต้องจัดลำดับความสำคัญว่าจะใช้พื้นที่ทางการคลังให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร โดยธนาคารโลกได้ประมาณการหนี้สาธารณะ แบ่งออกเป็น 4 กรณี
ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยมีการเติบโตที่ต่ำกว่าศักยภาพ เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด
ปัจจุบัน World Bank ได้ปรับประมาณการการเติบโตตามศักยภาพ (potential growth) ของเศรษฐกิจไทยอยู่ที่ 3% ซึ่งอยู่ใต้ potential growth ก่อนโควิด ซึ่งการจะทำให้การเติบโตกลับไปสู่ระดับเดิม จะต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้มีการแข่งขันมากขึ้นด้วยเทคโนโลยี เน้นการลงทุนในทุนมนุษย์ เพิ่มผลิตภาพเศรษฐกิจ รวมถึงส่งเสริมให้มีการเปิดเสรีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือ FDI ในอุตสาหกรรมที่มีนวัตกรรมใหม่ เพราะอุตสาหกรรมการผลิตส่วนใหญ่ยังพึ่งพาภาคบริการ
ทั้งนี้แนวโน้มการเติบโตเศรษฐกิจไทยในระยะยาว World Bank มองว่า ในอีก 20 ปีข้างหน้า ศักยภาพการเติบโต GDP ไทยคาดว่าจะยังทรงตัวอยู่ที่ระดับ +-3% เป็นผลมาจากการเข้าสู่สังคมสูงอายุค่อนข้างเร็ว สัดส่วนแรงงานวัยหนุ่มสาวน้อยลง ทำให้ผลิตภาพของประเทศลดลง เมื่อเทียบศักยภาพการเติบโตของอาเซียนอยู่ที่ระดับ 4.8% หากไม่มีการปฏิรูปเศรษฐกิจ