สรุปแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2567-2568 ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ครั้งที่ 6/2566 พบว่า มีประเด็นสำคัญที่น่าติดตามดังนี้
เศรษฐกิจไทยในภาพรวมอยู่ในทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่อง และคาดว่าจะขยายตัวที่ 2.4% ในปี 2566 โดยมีแรงส่งสำคัญจากภาคการท่องเที่ยว ซึ่งช่วยสนับสนุนการบริโภคภาคเอกชนให้ขยายตัวดี โดยเฉพาะในหมวดบริการ ขณะที่ภาคการส่งออกสินค้า และภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องฟื้นตัวช้า การฟื้นตัวจึงยังไม่ครอบคลุมในทุกภาคเศรษฐกิจ
สำหรับปี 2567 และ 2568 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวสมดุลมากขึ้น โดยคาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 3.2% และ 3.1% ตามลำดับ ในกรณีที่ไม่รวมผลของโครงการ กระเป๋าเงินดิจิทัล โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก
1.ภาคการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ 34.5 และ 39 ล้านคน ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ
2.การบริโภคภาคเอกชนที่จะได้รับแรงสนับสนุนจากการจ้างงาน และรายได้แรงงานที่ปรับดีขึ้น
3.ภาคการส่งออกสินค้า และภาคการผลิตที่เกี่ยวข้อง ที่จะกลับมาขยายตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของอุปสงค์สินค้าโลก พร้อมกับการกลับมาของวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลก
อย่างไรก็ดี ต้องติดตามความเสี่ยงที่การส่งออกอาจฟื้นตัวช้ากว่าที่ประเมินไว้ ส่วนหนึ่งจากปัญหาเชิงโครงสร้าง และความสามารถในการแข่งขันของภาคการส่งออกไทยที่ลดลง
ทั้งนี้ หากรวมผลของโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล อัตราการขยายตัวในปี 2567 คาดว่าจะอยู่ที่ 3.8% ลดลงจากระดับ 4.4% ที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน
นอกจากนี้ กนง.ประเมินว่า ในปี 2567 และ 2568 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะปรับสูงขึ้นมาอยู่ที่จะอยู่ที่ 2.0% และ 1.9% ตามลำดับ ส่วนหนึ่งจากราคาอาหารที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะทรงตัวอยู่ที่ 1.2% และ 1.3% ตามลำดับ สอดคล้องกับอุปสงค์ในประเทศที่ทยอยฟื้นตัว
อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามความเสี่ยงจากต้นทุนราคาอาหารที่อาจปรับสูงขึ้นกว่าคาด และความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ที่อาจส่งผลให้ราคาพลังงานโลกปรับสูงขึ้น หากรวมผลของโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล อัตราเงินเฟ้อทั่วไป และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2567 จะอยู่ที่ 2.2% และ 1.5% ตามลำดับ.