นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง พร้อมด้วยคณะ เปิดแถลงข่าวที่ทำเนียบรัฐบาล ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ในระบบ ว่า ปัญหาหนี้สินเป็นปัญหาเรื้อรังที่อยู่กับสังคมไทยมายาวนาน การแก้ปัญหาหนี้ในระบบและนอกระบบ จึงเป็นวาระแห่งชาติ และขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันแก้หนี้ทั้งหมดให้จบภายในรัฐบาลนี้
“ผมไม่ได้กล่าวว่าการเป็นหนี้เป็นสิ่งที่ชั่วร้าย โลกนี้มีหนี้ที่ดีอยู่ หนี้ที่นำไปจับจ่ายใช้สอยหรือประกอบธุรกิจ โดยไม่เกินความสามารถ การเป็นหนี้ที่ก่อให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจเพิ่มเงินในระบบ การมีลูกหนี้ที่ดีจึงเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ วันนี้พวกเราไม่สามารถปล่อยให้ลูกหนี้เผชิญปัญหาอยู่อย่างลำพัง ถึงเวลาที่ภาครัฐจะขอยื่นมือไปช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาทุกคน ให้กลับมาเป็นส่วนหนึ่งของกลไกทางเศรษฐกิจที่แข็งแรง”
เร่งช่วยเหลือลูกหนี้มีปัญหา 4 กลุ่ม
นายเศรษฐา กล่าวว่า รัฐบาลได้แบ่งกลุ่มลูกหนี้และแนวทางช่วยเหลือออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่ต้องได้รับความช่วยเหลือให้หลุดพ้นจากการเป็นหนี้เสีย หรือได้รับการพักชำระหนี้เพื่อผ่อนปรนภาระเป็นการชั่วคราว โดยส่วนใหญ่มีหนี้เสียกับธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จึงให้ธนาคารติดตามทวงถามหนี้ตามสมควรและให้ความช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มนี้ไม่ให้เป็นหนี้เสียอีก โดยคาดว่ามีประมาณ 1.1 ล้านราย ส่วนลูกหนี้เอสเอ็มอี สถาบันการเงินของรัฐจะเข้าไปช่วยเหลือผ่านปรับปรุงโครงสร้างหนี้และพักชำระหนี้ ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล เป็นเวลา 1 ปี คาดว่าจะช่วยเหลือลูกหนี้ ได้ครอบคลุมมากกว่า 99% ของจำนวนลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียในกลุ่มนี้ ราว 100,000 ราย
สำหรับกลุ่มที่ 2 คือ ลูกหนี้ที่มีรายได้ประจำ แต่มีภาระหนี้มากจนเกินที่ผ่อนไหว แบ่งเป็น 2 กลุ่มย่อย ได้แก่ ข้าราชการ ครู ตำรวจ ทหาร ที่มีหนี้กับสถาบันการเงิน และหนี้บัตรเครดิต จะช่วยผ่าน 3 แนวทาง คือ 1.ลดดอกเบี้ยไม่ให้สูงจนเกินไป เพราะเป็นกลุ่มที่มีรายได้ประจำถือว่ามีความเสี่ยงต่ำ 2.โอนหนี้ทั้งหมดไปไว้ในที่เดียวเช่นที่สหกรณ์ เพื่อให้การตัดเงินเดือนชำระหนี้ง่ายและสอดคล้องกับรายได้ลูกหนี้ 3.บังคับใช้หลักเกณฑ์การตัดเงินเดือนให้ลูกหนี้มีเงินเดือนเหลือเพียงพอต่อการดำรงชีพ โดย 3.แนวทางนี้ต้องทำพร้อมกัน เพราะครู 900,000 ราย ที่ประสบปัญหาหนี้สิน บางรายมีภาระหนักจนกระทบการใช้ชีวิตและการทำงาน ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการมีระเบียบกำหนดให้ครูต้องมีเงินเดือนเหลือจ่ายอย่างน้อย 30% หลังผ่อนหนี้รายเดือน และให้กระทรวงอื่นๆ มีหลักเกณฑ์เดียวกัน
สำหรับลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล หากเป็นหนี้เสีย สามารถเข้าร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ร่วมกับเจ้าหนี้บัตรเครดิตเกือบทั้งหมดช่วยปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยนำเงินต้นคงค้างมาทำตารางผ่อนชำระใหม่ให้ยาวถึง 10 ปี และลดดอกเบี้ย จาก 16-25% เหลือเพียง 3-5% เท่านั้น ล่าสุด ได้มีการปรับเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการ ให้ง่ายยืดหยุ่นสามารถช่วยเหลือลูกหนี้ได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
กลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มที่มีรายได้ไม่แน่นอนทำให้ชำระคืนหนี้ไม่ต่อเนื่อง เช่น เกษตรกร ลูกหนี้เช่าซื้อ ลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ซึ่งรัฐบาลได้มีโครงการพักชำระหนี้ให้แก่เกษตรกรทั้งหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย 3 ปี 1.5 ล้านราย ปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ กยศ. ทั้งลดดอกเบี้ย ลดเบี้ยปรับ เปลี่ยนลำดับการตัดชำระหนี้ ยกเลิกผู้ค้ำประกัน จะช่วยลูกหนี้ กยศ.กว่า 2.3 ล้านราย ส่วนลูกหนี้เช่าซื้อ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้ออกประกาศกำหนดดอกเบี้ยเช่าซื้อ เช่น กรณีเช่าซื้อรถใหม่คิดดอกเบี้ยไม่เกิน 10% ต่อปี รถจักรยานยนต์ไม่เกิน 23% ต่อปี และลดดอกเบี้ยผิดนัดให้ต่ำลงและให้ส่วนลดหากลูกหนี้ปิดบัญชีได้ก่อนกำหนด
กลุ่มที่ 4 กลุ่มนี้เป็นหนี้เสียคงค้างกับสถาบันการเงินของรัฐมาเป็นระยะเวลานาน จะโอนหนี้ไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์ ที่เกิดจากการร่วมทุนระหว่างสถาบันการเงินของรัฐ และบริษัทบริหารสินทรัพย์ เพื่อปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้กลุ่มนี้ประมาณ 3 ล้านราย
หนี้เสีย 12 ล้านบัญชี จบแน่รัฐบาลนี้
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย กล่าวเสริมว่า การแก้ไขครั้งนี้ครอบคลุมหนี้ครัวเรือน 16 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) โดยขณะนี้พบกลุ่มคนที่มีปัญหาแล้ว 5 ล้านคน คิดเป็น 12 ล้านบัญชี เพราะคนเดียวมีหลายบัญชี ส่วนบัตรเครดิตนั้น มีผู้ถือบัตรอยู่ 23.8 ล้านใบ มูลหนี้ 540,000 ล้านบาท มีหนี้บัตรเครดิตที่น่าเป็นห่วงและต้องจับตาเป็นพิเศษ 1.1 ล้านใบ คิดเป็นหนี้น่าเป็นห่วง 67,000 ล้านบาท
ด้านนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง กล่าวว่า คลังเตรียมจะเสนอมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียจากสินเชื่อฉุกเฉินโควิด โดยการจัดสรรงบประมาณเพื่อเข้าไปชดเชยหนี้ให้แก่ลูกหนี้ดังกล่าว คาดว่าจะใช้ 7,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณที่รัฐบาลชุดก่อนได้จัดสรรไว้แล้ว จะช่วยทำให้ลูกหนี้กลุ่มนี้หลุดพ้นจากการติดอยู่เครดิตบูโรได้ ขณะที่นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า คลังจะเร่งจัดทำแพ็กเกจมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ทั้ง 4 กลุ่มโดยเร็วที่สุด เพื่อนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบภายในเดือน ธ.ค.นี้ ส่วนลูกหนี้ชั้นดีก็จะมีแพ็กเกจเป็นของขวัญปีใหม่ให้ด้วย เพื่อจูงใจให้เป็นลูกหนี้ชั้นดีต่อไป.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่