Solo Economy เศรษฐกิจใหม่แบบอยู่คนเดียว

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

Solo Economy เศรษฐกิจใหม่แบบอยู่คนเดียว

Date Time: 1 ธ.ค. 2566 06:20 น.

Summary

  • ในการแถลงข่าวเรื่อง “ภาวะสังคมไทยในไตรมาส 3 ปี 2566” ของ สภาพัฒน์ มีข้อมูลหนึ่งที่ผมเห็นว่าน่าสนใจที่จะนำมาแชร์กันก็คือ “Solo Economy : เศรษฐกิจรูปแบบใหม่ในยุคอยู่คนเดียว” ที่กำลังเติบโตอย่างมากทั่วโลก

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

ในการแถลงข่าวเรื่อง “ภาวะสังคมไทยในไตรมาส 3 ปี 2566” ของ สภาพัฒน์ มีข้อมูลหนึ่งที่ผมเห็นว่าน่าสนใจที่จะนำมาแชร์กันก็คือ “Solo Economy : เศรษฐกิจรูปแบบใหม่ในยุคอยู่คนเดียว” ที่กำลังเติบโตอย่างมากทั่วโลก อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครัวเรือนที่มีคนอาศัยอยู่เพียงคนเดียวมากขึ้น ประเทศไทยก็หนีไม่พ้นภาวะการเปลี่ยนแปลงนี้ ข้อมูลครัวเรือนปี 2565 ระบุว่า ประเทศไทยมีถึง 7 ล้านครัวเรือน ที่เป็นครัวเรือนคนเดียว คิดเป็น สัดส่วน 26.1% หรือกว่า 1 ใน 4 ของครัวเรือนทั้งหมด เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจากร้อยละ 16.4 ในปี 2555

แนวโน้มครอบครัวคนเดียวที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เด็กเกิดใหม่ลดลงอย่างรวดเร็ว มีรายงานว่า ปี 2565 ไทยมีเด็กเกิดใหม่เพียง 5 แสนคน เท่านั้น

Euromonitor ระบุว่า ไทยเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่มีค่าใช้จ่าย เพื่อการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนคนเดียวสูงที่สุดในเอเชียแปซิฟิก แต่เมื่อพิจารณาธุรกิจในไทยพบว่า ธุรกิจไทยยังไม่ค่อยปรับตัวเพื่อตอบรับกับคนกลุ่มนี้มากนัก มีเพียง การส่งเสริมการท่องเที่ยวธุรกิจร้านอาหารที่รองรับลูกค้าที่มาคนเดียว ทั้งที่มีธุรกิจมากมายที่จะได้ประโยชน์จากครัวเรือนกลุ่มนี้อย่างมหาศาลเลยทีเดียว อาทิ

1.ที่อยู่อาศัยแนวดิ่ง ที่ตอบโจทย์ความต้องการของครัวเรือนคนเดียวมากขึ้น ปี 2565 มีครัวเรือนคนเดียวอาศัยอยู่ในห้องชุดฯสัดส่วนสูงถึง ร้อยละ 24.0 เพิ่มขึ้นจากผู้อาศัยอยู่ในห้องชุดคนเดียวในปี 2564 ถึง ร้อยละ 92.9

2.เมื่ออยู่คนเดียว “การคลายเหงา” เป็นสิ่งสำคัญ จากการพิจารณาค่าใช้จ่ายพบว่า ปี 2565 ครัวเรือนคนเดียวมีค่าใช้จ่ายเดินทางและสื่อสารคิดเป็นสัดส่วนมากถึงร้อยละ 27.6 สูงกว่าค่าใช้จ่ายประเภทอื่น นอกจากนี้ยังชอบเลี้ยงสัตว์และปลูกต้นไม้

3.ครัวเรือนคนเดียวมีแนวโน้มท่องเที่ยวมากขึ้น เกือบ 1 ใน 3 ยังชอบกิจกรรมด้านศาสนาอีกด้วย

4.ครัวเรือนคนเดียว ให้ความสำคัญกับการสร้างหลักประกันในชีวิตด้วยการทำประกัน ปี 2565 ครัวเรือนคนเดียวกว่า 4.9 ล้านคน มีการทำประกันชีวิต/ประกันภัย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 68.8 ของครัวเรือนคนเดียวทั้งหมด ในจำนวนนี้ ร้อยละ 3.4 ทำประกันสุขภาพเพิ่มเติม จากพฤติกรรมข้างต้นชี้ให้เห็นว่า หากภาคธุรกิจมีการปรับตัวเพื่อพัฒนาสินค้าและบริการที่ตอบสนองต่อคนกลุ่มนี้จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจได้มากขึ้น

สภาพัฒน์ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า สภาพแวดล้อมในปัจจุบันของไทย ยังไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิตคนเดียวมากนัก โดยเฉพาะ ปัญหาด้านความปลอดภัย และ 1 ใน 3 ของครัวเรือนคนเดียวเป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป หากต้องการ ยกระดับ Solo Economy ให้สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ได้อย่างเป็นรูปธรรม รัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญใน 4 ประเด็นคือ

1.เสริมสร้างทักษะทางการเงิน และ การเข้าถึงหลักประกันรายได้หลังเกษียณ ตั้งแต่วัยแรงงาน 2.ช่วยเหลือครัวเรือนผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพัง ส่งเสริมการทำกิจกรรมสร้างสรรค์ทางสังคม ควบคู่ไปกับการปรับภูมิทัศน์สภาพแวดล้อม เพิ่มพื้นที่สาธารณประโยชน์ 3.ยกระดับความปลอดภัยทางสังคม ที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตคนเดียว 4.ส่งเสริมให้เอกชนพัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้เหมาะสมสอดคล้องกับพฤติกรรมของครัวเรือนคนเดียว

เห็นไหมครับ โอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆของไทยยังมีอีกเยอะ และ มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง ขอให้รัฐบาลบริหารประเทศด้วยข้อมูล Solo Economy คือ เศรษฐกิจใหม่ของจริงที่กำลังเกิดขึ้นแล้ว มีลูกค้าอยู่ถึง 7 ล้านครัวเรือน มีการใช้จ่ายปีละมหาศาล ช่วยกระตุ้น เศรษฐกิจไทยได้เป็นอย่างดี ผมไม่อยากให้รัฐบาลปล่อยโอกาสทองนี้ ผ่านไปเลย.

“ลม เปลี่ยนทิศ”

คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ