ปรับฐานเงินเดือนข้าราชการ ก.พ.จ่อชง ครม.หวังบังคับใช้ให้ทันปีงบ 67

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ปรับฐานเงินเดือนข้าราชการ ก.พ.จ่อชง ครม.หวังบังคับใช้ให้ทันปีงบ 67

Date Time: 28 พ.ย. 2566 06:10 น.

Summary

  • จับตา ก.พ. ชง ครม.ขึ้นเงินเดือนข้าราชการ สศช. ชี้ไม่ได้ขึ้นทั้งระบบ แค่ปรับฐานเงินเดือนข้าราชการใหม่ ให้แข่งขันเอกชนได้ ส่วนกรณีที่รัฐประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ดันราคาสินค้าขยับขึ้นไปรอนานแล้ว ขณะที่ สนค.เผย ถ้าปีหน้าขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 5–10% ดันเงินเฟ้อเพิ่มเล็กน้อย 0.27-1.04%

Latest

“พิชัย” เปิดเวทีชวนนักลงทุนเข้าไทย

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า คาดว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 28 พ.ย.นี้ หรือสัปดาห์ถัดไป สำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) จะเสนอผลการศึกษาขึ้นเงินเดือนข้าราชการให้พิจารณา โดยเบื้องต้น ไม่ใช่การขึ้นเงินเดือนทั้งระบบ แต่เป็นการปรับฐานเงินเดือนข้าราชการที่บรรจุใหม่ เพราะฐานเงินเดือนปัจจุบันไม่สามารถแข่งขันกับเอกชนได้ หากดำเนินการในปีงบประมาณนี้ ก็อาจขอใช้จากงบกลางรายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นมาจ่ายก่อน

ทั้งนี้ สศช.ได้ให้ข้อเสนอแนะเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐด้านสังคมผ่านรายงานเรื่อง “Social Budgeting” ว่า รายจ่ายภาครัฐด้านสังคมปี 64 มีกว่า 1.16 ล้านล้านบาท คิดเป็น 7.15% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) โดยใช้จ่ายมากที่สุด คือ เกษียณอายุ และเสียชีวิต ขณะที่รายรับของงบประมาณด้านสังคม ส่วนใหญ่มาจากงบประมาณ และเงินสมทบภาครัฐ ซึ่งเริ่มไม่สมดุลระหว่างรายรับและรายจ่าย

“ช่องว่างทางการคลังแคบลง เพราะรัฐต้องใช้จ่ายในโครงการด้านสังคมเพิ่มขึ้น แต่จัดเก็บรายได้ไม่เต็มศักยภาพ โดยเฉพาะภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยปี 55-62 ภาครัฐใช้จ่ายเงินสวัสดิการด้านสังคม เพิ่มเฉลี่ย 7.1% ต่อปี ขณะที่รายได้สุทธิหลังหักการจัดสรร ขยายตัวเพียง 4% นอกจากนี้ รายจ่ายบางส่วนที่เพิ่มขึ้น ยังมาจากโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จากปี 55 ที่ 6,000 ล้านบาท เพิ่มเป็น 63,500 ล้านบาทในปี 61 และ 133,000 ล้านบาทในปี 64 หากไม่เพิ่มรายได้หรือเงินสมทบจากแหล่งอื่น รัฐอาจต้องกู้ยืมเพื่อนำมาใช้จ่ายและเกิดหนี้สาธารณะมากขึ้นอีก”

ทั้งนี้ การเพิ่มพื้นที่ทางการคลัง ส่วนหนึ่งถือเป็นการจัดลำดับการใช้จ่าย ขยายฐานรายได้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บรายได้ ขณะที่รายจ่ายสวัสดิการต่างๆเพิ่มขึ้นจากมาตรการรัฐที่ผ่านมา โดยมาตรการบางอย่างอาจต้องทำควบคู่กับการสร้างรายได้มากขึ้นด้วย

นายดนุชากล่าวต่อถึงรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 3 ปี 66 ว่า สถานการณ์แรงงานดีขึ้นต่อเนื่อง จากการเพิ่มขึ้นของการจ้างงาน ทั้งในและนอกภาคเกษตรกรรม ส่วนการว่างงานอยู่ในระดับต่ำที่ 0.99% แต่มีผู้เสมือนว่างงานเพิ่มขึ้น สิ่งที่ต้องจับตา คือ ราคาสินค้าที่อาจสูงขึ้นก่อนปรับค่าจ้าง จากการที่รัฐบาลได้ประกาศเพิ่มรายได้ให้กับแรงงานหลายกลุ่ม โดยเฉพาะค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งการศึกษาของ สศช.พบว่า การประกาศปรับค่าจ้างขั้นต่ำล่วงหน้าก่อนบังคับใช้จริง จะทำให้ราคาสินค้าปรับขึ้นก่อน 6-7 เดือน และยังคงเพิ่มขึ้นต่อไปอีก 7 เดือน หลังปรับค่าจ้างขั้นต่ำจริง

ขณะเดียวกัน ยังต้องติดตามด้วยว่า การหดตัวของการส่งออกอาจกระทบต่อการจ้างงานในสาขาการผลิต ซึ่งขณะนี้ พบว่าการผลิตสินค้าส่งออกสำคัญหลายรายการจ้างงานลดลง โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก อุปกรณ์ไฟฟ้า เป็นต้น

สำหรับภาพรวมการจ้างงานไตรมาส 3 ยังขยายตัวต่อเนื่อง โดยผู้มีงานทำ 40.1 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 1.3% ผลจากการขยายตัวของการจ้างงาน ทั้งในและนอกภาคเกษตรกรรม โดยภาคเกษตรกรรมขยายตัว 2% และนอกภาคเกษตรกรรมขยายตัว 1% ขณะที่ผู้เสมือนว่างงาน สูงถึง 2.3 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นกว่า 24.9% เป็นการเพิ่มขึ้นจากผู้เสมือนว่างงานที่ทำงานนอกภาคเกษตรกรรม สำหรับค่าจ้างแรงงานดีขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 64 โดยค่าจ้างเฉลี่ยในภาพรวมและของภาคเอกชนอยู่ที่ 15,448 และ 14,141 บาทต่อคนต่อเดือน ขยายตัว 1.5% และ 2.8% ตามลำดับ เช่นเดียวกับค่าจ้างที่แท้จริงเพิ่มขึ้น 9% และ 10.3% ต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นปี 66

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวถึงผลการวิเคราะห์ “ผลกระทบขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไป” ว่า หากปี 67 จะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 5-10% หรือเพิ่มเป็น 353.85-370.70 บาทต่อวัน จาก 328-354 บาทต่อวัน พบว่า จะทำให้ต้นทุนผลิตรวมเพิ่ม 0.41-1.77% และเงินเฟ้อเพิ่ม 0.27-1.04% ถือว่าไม่มากนัก โดยภาคผลิตที่อาจได้รับผลกระทบมาก คือ กลุ่มที่มีค่าใช้จ่ายแรงงานสูง โดยเฉพาะสาขาเกษตร ทั้งยางพารา อ้อย มะพร้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง พืชผัก ข้าว และบริการ เช่น การศึกษา ค้าปลีก ค้าส่ง บริการทางการแพทย์ บริการส่วนบุคคล

สำหรับสินค้าและบริการที่อาจได้รับผลกระทบสูงสุด 5 อันดับแรก คือ อาหารสำเร็จรูป ข้าว การสื่อสาร ผักสด และผลไม้สด “การขึ้นค่าแรงช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงาน เพิ่มผลิตภาพการผลิต ซึ่งจะเกิดผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมต่อไป แต่ควรเป็นระดับที่ทุกฝ่ายยอมรับ และได้ประโยชน์ร่วมกัน”

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ