นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ต.ค.66 ว่า อยู่ที่ระดับ 60.2 ดีขึ้นจาก 58.7 ในเดือน ก.ย.66 เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และสูงสุดในรอบ 44 เดือน นับตั้งแต่เดือน มี.ค.62 ส่วนดัชนีอื่นๆเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และสูงสุดในรอบ 44 เดือนเช่นกัน โดยความเชื่อมั่นในปัจจุบัน อยู่ที่ 44.0 เพิ่มจาก 42.9, ดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคต 68.0 เพิ่มจาก 66.3 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม 54.5 เพิ่มจาก 53.2, ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางาน 57.0 เพิ่มจาก 55.4 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต 69.2 เพิ่มจาก 67.4
ทั้งนี้ การที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ต.ค.ดีสุดในรอบ 44 เดือน ทำลายสถิติทุกดัชนี เพราะคนรู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยดีขึ้นใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด และประชาชนรู้สึกว่าเศรษฐกิจดีขึ้นแล้ว จากที่รัฐบาลลดค่าครองชีพต่างๆ ทั้งลดราคาน้ำมัน ลดค่าไฟฟ้า จนส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อไทยเดือน ต.ค.66 ติดลบ หมายความว่า มาตรการของรัฐทำให้ประชาชนไม่มีความกดดันเรื่องของสินค้าราคาแพง และหวังรัฐบาลจะมีมาตรการอื่นๆ ต่อเนื่อง เช่น ดิจิทัลวอลเล็ต
“ระยะเวลาการทำงานของรัฐบาล 60 วันที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนมีความหวังว่า เศรษฐกิจจะฟื้นขึ้น แต่ก็ยังคงมีความกดดันในเชิงลบ ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นไม่สูงมาก และไม่รวดเร็วพอ เช่น สงครามอิสราเอลกับฮามาส และการจับตามองประเทศในตะวันออกกลาง ที่จะส่งผลให้เกิดความกังวล ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ราคาน้ำมันที่จะบานปลายหรือไม่ รวมถึงเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีนที่ยังไม่โดดเด่น การส่งออกไทยก็ไม่ชัดเจนว่าจะฟื้นตัวกลับมาเป็นบวกอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกัน นโยบายของรัฐก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นอย่างโดดเด่น หรือแม้แต่เหตุการณ์ยิงในห้างดังกลางเมือง ที่ส่งผลต่อการท่องเที่ยว”.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่