เศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวมาตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงัก เกิดปัญหาการว่างงาน ประชาชนมีรายได้ลดลง ได้ส่งผลกระทบต่อการชำระหนี้ของประชาชน และแม้ว่าโควิด-19 จะคลี่คลายไปแล้ว แต่เศรษฐกิจไทยก็ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ตามที่คาดหมาย จากพิษของเศรษฐกิจโลก
ภาพสะท้อนที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือ จำนวนทรัพย์สินรอการขาย หรือ NPA ของธนาคาร สถาบันการเงิน และบริษัทบริหารสินทรัพย์ ที่เร่งตัวขึ้นมาสูงมาก โดย “อลงกต บุญมาสุข” เลขาธิการและประธานกรรมการบริหารสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย เผยว่า แนวโน้ม NPA ของสถาบันการเงินมีทิศทางปรับตัวขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งหากย้อนกลับไปในช่วงปี 2561 ก่อนการระบาดของโควิด-19 พบ NPA ของธนาคารพาณิชย์มีมูลค่าทางบัญชี ซึ่งรายงานโดยธนาคารแห่งประเทศไทย จำนวน 93,734 ล้านบาท ขณะที่ตัวเลขล่าสุด ณ เดือนสิงหาคม 2566 NPA ของธนาคารพาณิชย์มีมูลค่าทางบัญชีรวม 163,624 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 75% จากปี 2561
ทั้งนี้ ยังไม่รวม NPA จากสถาบันการเงินเฉพาะกิจ และบริษัทบริหารทรัพย์สิน ซึ่งประเมินกันว่า NPA ทั้งระบบจะมีมูลค่ารวม (ตามการประเมินราคา) อยู่ที่ประมาณ 4-5 แสนล้านบาท และยังมีแนวโน้มที่ NPA จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหลังจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สถาบันการเงินโดยธนาคารแห่งประเทศไทยสิ้นสุดลง
ขณะที่ปัญหาภาระหนี้ครัวเรือนที่ปรับตัวสูง อัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้น เช่นเดียวกับอัตราดอกเบี้ยที่ยังคงอยู่ในช่วงขาขึ้น ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค ประกอบกับภาวะสงครามที่เกิดขึ้นทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครน และล่าสุดสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสจะยิ่งซ้ำเติมให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ช้าลง และเมื่อสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงิน อาจทำให้มี NPA เข้าสู่ระบบเพิ่มมากขึ้น
เลขาสมาคมสินเชื่อที่อยู่ฯ ยังกล่าวว่า จากแนวโน้มข้างต้นอาจเป็นปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้การซื้อบ้านมือสองในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2566 ถือเป็นโอกาสทองของผู้บริโภค เนื่องจากราคาบ้านมือสองจะมีราคาที่ถูกกว่าบ้านใหม่ 20-30% และอยู่ในทำเลที่ไม่สามารถสร้างบ้านใหม่ได้ในปัจจุบัน ที่สำคัญต้นทุนการก่อสร้างบ้านใหม่มีแนวโน้มจะปรับขึ้นต่อเนื่องจากราคาที่ดิน ราคาวัสดุ และต้นทุนพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น
ขณะที่ธนาคาร และสถาบันการเงิน ได้ขยายช่องทางการทำตลาดบ้านมือสองผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ เป็นการเพิ่มโอกาสในการขาย และการเข้าถึงของผู้บริโภคมากขึ้น ประกอบกับมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ โดยการลดค่าธรรมเนียมการโอนเหลือ 1% และลดค่าธรรมเนียมการจดจำนองเหลือ 0.01% ครอบคลุมถึงการซื้อขายบ้านมือสองราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ซึ่งจะหมดอายุลงในสิ้นปี 2566 และยังไม่มีความชัดเจนว่าจะต่ออายุมาตรการออกไปหรือไม่
ขณะที่ธนาคาร และสถาบันการเงิน พยายามเร่งระบาย NPA ออกในช่วงโค้งสุดท้ายของปี ด้วยการจัดกิจกรรมการตลาดทั้งโปรโมชันราคาพิเศษ พร้อมเงื่อนไขสินเชื่อที่จูงใจ
“การซื้อบ้านมือสองในช่วงเวลานี้จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการซื้อเพื่ออยู่อาศัย และซื้อเพื่อการลงทุน ด้วยจำนวนสินค้าที่มีให้เลือกมากมาย ตามโลเคชันที่ลูกค้ามีความต้องการ ในราคาส่วนลดพิเศษ และสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และยังได้สิทธิ์จากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ในการลดค่าธรรมเนียมการโอน และจดจำนองในวงเงินไม่เกิน 3 ล้านบาท”
ทั้งนี้ สมาคมฯ อยู่ระหว่างที่สมาคมฯ เตรียมจัดงาน Home-Loan-NPA Grand Sale 2023 มหกรรมสินเชื่อบ้าน และบ้านมือสองแห่งปี จัดงานระหว่างวันที่ 17-19 พฤศจิกายน 2566 ณ Event Hall ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีธนาคาร สถาบันการเงิน และบริษัทบริหารสินทรัพย์ เข้าร่วมเสนอขาย NPA และสินเชื่ออัตราดอกเบี้ย รวม 10 หน่วยงาน ประกอบด้วย
นอกจากนี้ยังมี บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) และศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ มาร่วมให้บริการด้านข้อมูลเครดิต และข้อมูลอสังหาริมทรัพย์มือสองในงานครั้งนี้ด้วย.