พาณิชย์ของบ 6.9 หมื่นล้าน รักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร 4 ชนิด

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

พาณิชย์ของบ 6.9 หมื่นล้าน รักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร 4 ชนิด

Date Time: 31 ต.ค. 2566 07:20 น.

Summary

  • พาณิชย์ เตรียมชง ครม.ไฟเขียวงบ 6.98 หมื่นล้านบาท ดูแลข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ด้านชาวนาร้องรัฐตั้งกองทุนเพื่อการเกษตร และกองทุนสวัสดิการชาวนา เป็นหลักประกันชีวิตชาวนา

Latest

“พิชัย” เปิดเวทีชวนนักลงทุนเข้าไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เร็วๆนี้กระทรวงพาณิชย์ จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบมาตรการเร่งด่วน (ควิก วิน) รักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตรสำคัญ คือ ข้าวเปลือก มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปาล์มน้ำมันปีการผลิต 66/67 มีเป้าหมายดูแลเกษตรกร 6.17 ล้านครัวเรือน รวมผลผลิต 20.7 ล้านตัน วงเงินงบประมาณ 69,890 ล้านบาท แยกเป็นข้าว 4.68 ล้านครัวเรือน เป้าหมาย 14 ล้านตัน วงเงิน 69,043 ล้านบาท, มัน 740,000 ครัวเรือน เป้าหมาย 6.2 ล้านตัน วงเงิน 370 ล้านบาท, ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 370,000 ครัวเรือน เป้าหมาย 300,000 ตัน วงเงิน 65 ล้านบาท และปาล์มน้ำมัน 380,000 ครัวเรือน เป้าหมาย 200,000 ตัน วงเงิน 412 ล้านบาท

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ว่า ได้แจ้งว่ากระทรวงพาณิชย์จัดทำมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกปี 66/67 แล้ว โดยมี 4 มาตรการ วงเงิน 69,043.03 ล้านบาท และจะนำเสนอให้คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานพิจารณาวันที่ 1 พ.ย.66 จากนั้นจะเสนอให้ ครม.เห็นชอบต่อไป

สำหรับ 4 มาตรการ ประกอบด้วย 1.สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี เป้าหมาย 3 ล้านตัน 10,120.71 ล้านบาท โดยช่วยค่าฝากให้เกษตรกรที่เก็บข้าวไว้ในยุ้งฉางของตัวเองตันละ 1,500 บาท หากเกษตรกรเข้าร่วมกับสหกรณ์ เกษตรกรจะได้รับค่าฝากเก็บตันละ 500 บาท และสหกรณ์ ได้รับตันละ 1,000 บาท ระยะเวลาฝากเก็บ 1-5 เดือน เริ่มวันที่ 1 ต.ค.66-29 ก.พ.67 และเกษตรกรสามารถนำข้าวไปขอสินเชื่อจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยข้าวหอมมะลิตันละ 12,000 บาท ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 10,500 บาท ข้าวหอมปทุมธานี ตันละ 10,000 บาท ข้าวเจ้า ตันละ 9,000 บาท และข้าวเหนียว ตันละ 10,000 บาท หากข้าวราคาขึ้น เกษตรกรสามารถไถ่ถอนออกมาจำหน่ายได้

2.สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร เป้าหมาย 1 ล้านตัน วงเงิน 481.25 ล้านบาท โดยสหกรณ์จ่ายดอกเบี้ย 1% รัฐช่วย 3.85% ระยะเวลา 15 เดือน ระยะเวลาจ่ายสินเชื่อวันที่ 1 ต.ค.66-30 ก.ย.67

3.ชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการเก็บสต๊อก เป้าหมาย 10 ล้านตัน วงเงิน 2,120 ล้านบาท โดยรัฐช่วยดอกเบี้ย 4% เก็บสต๊อก 2-6 เดือน ระยะเวลารับซื้อวันที่ 1 พ.ย.66-31 มี.ค.67

4.สนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว 4.68 ล้านครัวเรือน ช่วยไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ หรือครัวเรือนละ 20,000 บาท วงเงิน 56,321.07 ล้านบาท

“ทั้ง 4 มาตรการ เป็นมาตรการเร่งด่วนที่จะใช้ดูแลราคาข้าว เพราะรัฐบาลไม่มีนโยบายจำนำข้าว และประกันรายได้ มั่นใจจะดูแลราคาข้าวเปลือกได้ และวงเงินที่ใช้ 69,043.03 ล้านบาท ไม่มีปัญหาเรื่องเพดานหนี้ ตามมาตรา 28 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2561 เพราะได้คุยกับกระทรวงการคลังแล้ว สามารถดำเนินการได้”

นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า แม้ชาวนาต้องการความช่วยเหลือลดต้นทุน ค่าปรับปรุงบำรุงดินและค่าบริหารจัดการแปลงนาไร่ละ 2,000 บาท ไม่เกินรายละ 20 ไร่ จากที่รัฐให้ 1,000 บาท แต่ก็ถือว่า มาตรการช่วยเหลือดังกล่าว ชาวนาพอใจ อย่างไรก็ตาม ในการประชุม นบข. วันที่ 1 พ.ย.นี้ เตรียมนำเสนอให้พิจารณาแก้ปัญหาของชาวนา โดยเสนอให้จัดสรรงบเพื่อเตรียมแหล่งน้ำ จัดทำโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน, วิจัยและจัดสรรเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีประสิทธิภาพ, ลดต้นทุนการผลิต ต้นทุนพลังงาน, ส่งเสริมการเข้าถึงเครื่อง มือ เครื่องจักรกลเทคโน โลยีทันสมัย, พักหนี้, จัดตั้งกองทุนเพื่อการเกษตร และกองทุนสวัสดิ การชาวนา.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ