เงินดิจิทัลกับทางออก

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

เงินดิจิทัลกับทางออก

Date Time: 12 ต.ค. 2566 06:05 น.

Summary

  • หลังจากมี นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ที่ประกอบด้วยอาจารย์ และอดีตผู้บริหารแบงก์ชาติกว่า 133 คน ออกมาชี้ถึงข้อเสียและความเสี่ยงของการแจกเงิน ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท รัฐบาลนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ถึงกับว้าวุ่น แม้จะมีการตอบโต้มาจากฝ่ายการเมืองฝั่งรัฐบาล

Latest

“ซื้อบ้าน” หลังแรก กับหลักวางแผนการเงิน รายได้เหยียบแสน แต่ไม่หยุด สร้างหนี้ใหม่ ก็อาจเป็นแค่ฝัน

หลังจากมี นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ที่ประกอบด้วยอาจารย์ และอดีตผู้บริหารแบงก์ชาติกว่า 133 คน ออกมาชี้ถึงข้อเสียและความเสี่ยงของการแจกเงิน ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท รัฐบาลนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ถึงกับว้าวุ่น แม้จะมีการตอบโต้มาจากฝ่ายการเมืองฝั่งรัฐบาล เอาเรื่องคนรวยคนจนมาเป็นข้ออ้าง กลายเป็นการตอบโต้ที่ไม่ตรงกับคำถาม แต่เป็นการแสดงออกถึงการรับรู้ในปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับประเทศในอนาคตแค่ไหนเพียงไร

พอจะจับความได้ว่า เป็นเพราะต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมากถึง 5.6 แสนล้านบาท และเงื่อนไขของนโยบายยังหละหลวม มีช่องโหว่หลายจุดที่จะนำไปสู่ผลกระทบอย่างรุนแรงทางการเงินการคลังของประเทศ

เพื่อไทย ในฐานะแกนนำรัฐบาลส่ง ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ รองเลขาธิการพรรค ออกมาตอบโต้อ้างว่านโยบายดังกล่าวมาจากการลงพื้นที่และรับฟังความคิดเห็นของพี่น้องประชาชน ต้องการความช่วยเหลือจากปัญหาที่สะสมมาหลายปี ทำให้หนี้ครัวเรือนพุ่งขึ้น 10 เท่าจากปี 2553 เสียงไม่ดังพอที่จะกลบเสียงของเซียนเศรษฐกิจ

อ้างการประเมินของ ม.หอการค้าไทย โครงการดังกล่าวจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 2-3 รอบ คิดเป็นมูลค่า 1-1.6 ล้านล้านบาท จะทำให้ จีดีพีขยายตัวถึง 5-7% แล้วก็ไปพูดถึงการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เรื่องของการขึ้นดอกเบี้ยเชิงนโยบายอะไรต่อมิอะไร ถือว่ายังตอบไม่ตรงกับคำถามที่นักวิชาการตั้งข้อสังเกตไว้

มีนักวิชาการหลายคนเสนอทางออกในการแก้จุดอ่อนการแจกเงินดิจิทัล เช่น อนุสรณ์ ธรรมใจ ผอ.ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล เสนอว่า จากการประเมินโดยไม่มีปัจจัยที่เป็นความเสี่ยงทางเศรษฐกิจในปี 2567 มีการเติมเงินเข้าระบบ 5.6 แสนล้าน ถ้าเงินจำนวนนี้หมุนเวียนในระบบ 1-3 รอบ จะมีเม็ดเงินหมุนเวียน 1.6 ล้านล้าน ทำให้จีดีพีโตได้อีก 1.14-3.30% หรือจีดีพีจะโตในปี 2567 4-5% อย่างไรก็ตาม อาจจะทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น แรงกดดันทำให้เกิดเงินเฟ้อมากขึ้น จำเป็นต้องมีการปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น กลายเป็นการไปหักล้างผลของการกระตุ้นเศรษฐกิจ และส่งผลกระทบต่อ ประสิทธิภาพการใช้จ่าย ของประชาชน

ที่นักวิชาการเห็นตรงกัน ไม่ได้คัดค้านการแจกเงินให้กับประชาชนเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนและเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ควรจะปรับเปลี่ยนเงื่อนไขให้รัดกุมกว่านี้ เช่น การแจกให้กับคนไทยทุกคนอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป ปัญหาที่จะตามมาก็คือ ความจำเป็นและจุดประสงค์ในการใช้จ่ายเงินที่ไม่เหมือนกัน เช่น เด็กอายุ 16 อาจไม่ได้มองเรื่องของการดำรงชีพ แต่ไปมองเรื่องของสิ่งของฟุ่มเฟือย ประเภทวัยรุ่นต้องมี คนทำงานจะเน้นการใช้เงินเรื่องการดำรงชีวิตของครอบครัว ใช้หนี้ใช้สิน เรื่องของอนาคต ผู้สูงอายุก็จะเน้นเรื่องของสุขภาพ

สมมติครอบครัวหนึ่งมีอยู่ 7 คน ได้รับเงินรวมกันแล้ว 7 หมื่นบาท คงไม่คิดจะซื้อกะปิน้ำปลาอยู่แล้ว

ในขณะที่การใช้เงินดิจิทัลยังมีปัญหาการใช้เงินระหว่างร้านค้า กับผู้บริโภค เรื่องของการจำกัดระยะทางในการใช้เงินดิจิทัล เงื่อนไขในการนำเงินไปใช้จ่ายมีการควบคุมมากน้อยแค่ไหน ในที่สุดก็จะเป็นเบี้ยหัวแตก ผลประโยชน์จะไม่ได้กระจายไปในชุมชน ผลลัพธ์สุดท้ายจะตกอยู่กับทุนธุรกิจผูกขาด

สรุปว่ารัฐบาลจะแจกเงินไม่มีใครว่า แต่ควรจะกำหนดวิธีการ เงื่อนไขให้สอดคล้องกับอุปสงค์กับอุปทาน ไม่ควรทำแบบเหวี่ยงแหมองแต่ต้นน้ำ แต่ไม่ได้คำนวณถึงผลลัพธ์สุดท้ายของกลางน้ำและปลายน้ำครึ่งๆกลางๆคาราคาซัง.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th

คลิกอ่านคอลัมน์ “คาบลูกคาบดอก” เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ