นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยถึงกรณีที่อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นักวิชาการ และคณาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ ร่วมกันลงชื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาทว่า ยืนยันว่ารัฐบาลยังคงเดินหน้าเช่นเดิม แต่จะนำข้อเสนอแนะต่างๆ มาพิจารณาในการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเงินดิจิทัล วันที่ 12 ต.ค.นี้ จากนั้นจะนำผลสรุปเสนอต่อคณะกรรมการชุดใหญ่ ที่มีนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เป็นประธาน วันที่ 24 ต.ค.นี้ “รัฐบาลพร้อมนำข้อเสนอแนะต่างๆ มาปรับปรุงให้เกิดความสมดุล เช่น เงื่อนไขรัศมีการใช้จ่าย 4 กิโลเมตร (กม.) ตามที่อยู่ในบัตรประชาชน อาจครอบคลุมรัศมีในตำบล หรืออำเภอ หรือจังหวัด ส่วนกลุ่มเป้าหมาย อาจพิจารณาปรับ แต่ต้องไม่กระทบวัตถุประสงค์โครงการ เชื่อว่าคนรวยสุดไม่เข้าร่วมโครงการนี้”
สำหรับเหตุผลของการเดินหน้าโครงการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมีเป้าหมายให้เศรษฐกิจปีหน้าเติบโต 5% เมื่อเศรษฐกิจขยายตัว จะมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น เกิดการจ้างงาน และการลงทุน รัฐบาลจัดเก็บภาษีได้ เพิ่มขึ้น และสุดท้ายสามารถจัดทำงบประมาณสมดุลได้ ส่วนแหล่งที่มาของเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการ จะมาจากหลายแหล่ง ทั้งการรีดไขมันส่วนเกินจากเงินงบประมาณของหน่วยงานราชการ การใช้เงินตามมาตรา 28 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2561 และอื่นๆ ซึ่งจะดำเนินการภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด
ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เสนอแนะให้รัฐบาลแจกเงินดิจิทัลเฉพาะกลุ่ม และแบ่งช่วงเวลาการแจกเงิน เพราะจะได้กระตุ้นเศรษฐกิจได้ตลอดปี หรือใช้งบประมาณ 400,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีกกว่า 100,000 ล้านบาทเสนอให้เอาไปใช้บริหารจัดการน้ำ เพราะปีหน้าภัยแล้งอาจจะรุนแรงขึ้น ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตยั่งยืนกว่าการแจกเงิน รวมถึงเสนอให้สนับสนุนใช้สินค้าผลิตในประเทศ
เงินจะหมุนได้หลายรอบ และใช้ซื้อของสำหรับการประกอบอาชีพ เพื่อสร้างความยั่งยืนของครัวเรือน และลดหนี้ครัวเรือนได้
ส่วนนายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า นโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ขอเสนอให้เพิ่มการหารือร่วมกับภาคเอกชนและสมาคมต่างๆ เพื่อให้
การดำเนินนโยบายเกิดประสิทธิภาพสูงสุด.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่