ผมขอขอบคุณและขอปรบมือให้แก่นักเศรษฐศาสตร์ผู้กล้าหาญที่ตามข่าวบอกว่ารวมแล้ว 99 รายพอดิบพอดีที่ลงชื่อแสดงความคิดเห็นคัดค้านนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทแก่ประชาชนอายุ 16 ปีขึ้นไปของรัฐบาลชุดปัจจุบัน
ด้วยเหตุผลหลายๆข้อที่ผมเห็นด้วยทุกข้อ แต่เพื่อเป็นการประหยัดเนื้อที่คอลัมน์ ผมจะไม่นำลงซํ้าอีก...โดยจะขอละไว้ในฐานที่เข้าใจกันอยู่แล้วว่าข้อความและเหตุผลคัดค้านของ 99 นักเศรษฐศาสตร์จากสำนักต่างๆมีเนื้อหาสาระอย่างไรบ้าง
เพราะวันนี้ผมเพียงตั้งใจว่าจะมาขอบคุณมาปรบมือให้ และจะมาเขียนเสริมให้นํ้าหนักแก่ทั้ง 99 ท่านว่า...เท่าที่ผมรู้จักเคยสัมภาษณ์พูดคุยเคยทำงานด้วย และหลายๆคนก็เป็นเพื่อนร่วมรุ่นผมที่ธรรมศาสตร์ ...คือนักเศรษฐศาสตร์ตัวจริงเสียงจริง
แน่นอนผมคงไม่รู้จักครบถ้วนทั้ง 99 ท่าน แต่เท่าที่ใช้ปากกาขีดเส้นใต้ดูเหมือนจะรู้จักกว่า 45 ท่าน หรือเกินกึ่งหนึ่ง
ขอยืนยันยํ้าไว้ ณ บรรทัดนี้อีกครั้งหนึ่งว่ากว่า 45 ท่านที่ว่านี้คือนัก เศรษฐศาสตร์ที่ได้ใช้วิชาเศรษฐศาสตร์เพื่อชาติบ้านเมืองมาแล้วทุกท่าน
หลายๆท่านที่เป็นอาจารย์สอนหนังสือตามมหาวิทยาลัยต่างๆซึ่งการสอนของท่านก็ถือว่าเป็นการช่วยพัฒนาประเทศชาติอยู่แล้ว คือช่วยพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีความรู้ความสามารถจบเป็นบัณฑิตออกไปช่วยพัฒนาบ้านเมืองโดยตรงต่อไป
ผู้ที่ลงนามเป็นท่านแรกหรือ ดร.วิรไท สันติประภพ นั้น ผมรู้จัก และได้ยินเสียงท่านมากว่า 20 ปีแล้วกระมัง...วันที่ท่านได้รับการคัดเลือกให้เป็น “นักเศรษฐศาสตร์ดาวรุ่ง” ของสมาคมเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ผมก็นำมาเขียนบอกกล่าวท่านผู้อ่านผ่านคอลัมน์นี้
ต่อมาเมื่อท่านได้รับการคัดสรรมาดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ก็เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าผลงานของท่านมี คุณประโยชน์ แก่ประเทศชาติอย่างไรบ้าง
สำหรับท่านที่สอง ดร.ธาริษา วัฒนเกส ผมไม่เพียงรู้จักท่านยังเคยได้เห็นการทำงานของท่านไม่ตํ่ากว่า 2 ปี ที่ผมโชคดีมีโอกาสไปดำรงตำแหน่ง “บอร์ด” หรือ “กรรมการ” ของธนาคารแห่งประเทศไทย ในยุคที่ “หม่อมอุ๋ย” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เป็นผู้ว่าการฯ
ดร.ธาริษาเป็นลูกหม้อคนหนึ่งของแบงก์ชาติที่มีความรู้ความสามารถในด้านการเงินของธนาคาร และมีจิตวิญญาณของการเป็นนักเศรษฐศาสตร์อย่างเต็มเปี่ยม
นั่งอ่านรายชื่อไปเรื่อยๆก็มาถึงผู้ลงนามอันดับที่ 10 ซึ่งผมเห็นชื่อท่านแล้วก็แอบเผลอยกมือไหว้โดยไม่รู้ตัว...เพราะท่านคืออาจารย์เก่าและเป็นเจ้านายเก่าที่ผมนับถือมากที่สุดท่านหนึ่ง
ดร.วิญญู วิจิตรวาทการ ครับ ท่านสมัครมาเป็นอาจารย์ประจำของคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2503 ปีเดียวกับที่ธรรมศาสตร์ปิดตลาดวิชา และคณะเศรษฐศาสตร์ก็เปิดรับเพียง 200 ที่นั่ง ซึ่งผมโชคดี สอบได้เป็น 1 ใน 200 ด้วย จึงกลายเป็นลูกศิษย์ท่านตั้งแต่บัดนั้น
ต่อมาท่านโอนไปอยู่ “สภาพัฒน์” ไต่เต้าขึ้นเป็น หัวหน้ากองโครงการสังคม ริเริ่มจัดทำแผนพัฒนาสังคมเคียงคู่ไปกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งก็พอดีผมได้ทำงานที่สภาพัฒน์ แม้จะอยู่กองอื่นแต่ก็ต้องถือว่าท่านเป็นเจ้านายของผมด้วย
หลังจากนั้นท่านก็โอนกลับไปเป็นคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ แทนท่านอาจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่ขึ้นไปดำรงตำแหน่งอธิการบดี แล้วก็เกิดเหตุการณ์ “6 ตุลาคม 2519” ทำให้ท่าน “อาจารย์ ป๋วย” ต้องประสบเคราะห์จากการกระทำของกลุ่มขวาจัด ต้องอำลาจากประเทศไทยไปอยู่อังกฤษอย่างขมขื่นในช่วงสุดท้ายของชีวิต
ท่านอาจารย์ วิญญู วิจิตรวาทการ ก็พลอยหายไปด้วยนับแต่นั้น จนผมเกือบจะลืมท่านไปเสียแล้ว
ดีใจมากครับที่ได้เห็นชื่อท่านอาจารย์ปรากฏในบัญชีรายชื่อของผู้คัดค้านนโยบายแจกเงินดิจิทัลของพรรคเพื่อไทย (ซึ่งผมก็ไม่เห็นด้วย และได้เขียนติงไปแล้วตามสไตล์ผมเมื่อฉบับวันพุธ สัปดาห์ที่ผ่านมา)
พรุ่งนี้ผมขอเขียนต่ออีกวันนะครับ เพราะยังมีอีกหลายๆรายชื่อของผู้คัดค้านครั้งนี้ ที่ผมชื่นชมเคารพและศรัทธาในความเป็นนักเศรษฐศาสตร์ของแต่ละท่านอย่างจริงใจ.
“ซูม”