นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังเตรียมเสนอพักหนี้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่อยู่ในรหัส 21 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นเวลา 1 ปี โดยลูกหนี้เอสเอ็มอี ที่อยู่ในรหัส 21 หมายถึงลูกหนี้ที่ค้างชำระหนี้เกินกว่า 90 วัน เนื่องจากลูกหนี้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไม่ปกติ หรือเป็นหนี้เสียที่เป็นตั้งแต่โควิด 19 เนื่องจากกลุ่มนี้ก่อนหน้านี้เคยเป็นลูกหนี้ที่จ่ายเงินปกติ ไม่มีประวัติผิดนัดชำระ แต่จากเหตุการณ์โควิดส่งผลให้ไม่สามารถใช้หนี้ได้ โดยลูกหนี้ดังกล่าวมีทั้งหมด 3 ล้านราย คิดเป็นมูลหนี้ราว 300,000 ล้านบาท แต่การพิจารณาพักการชำระหนี้ของเอสเอ็มอี จะมีการกำหนดกรอบวงเงินหนี้ที่สามารถเข้าโครงการนี้ได้ มิฉะนั้นภาระการชดเชยจะบานปลายไปมาก
อย่างไรก็ตาม เอสเอ็มอีที่ได้รับการช่วยเหลืออยู่แล้วจะไม่สามารถเข้ามาตรการพักหนี้ได้ แต่คลังจะหาวิธีการอื่นให้เข้าโครงการพักหนี้ในปีถัดๆไป ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีจะลงนามแต่งตั้งคณะทำงานการพักหนี้ของเอสเอ็มอี ประกอบด้วยตัวแทนจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน สมาคมธนาคารไทย ธปท. โดยมีตนเป็นประธาน ส่วนโครงการพักการชำระหนี้เกษตรกร 3 ปี จะมีการประชุมบอร์ด ธ.ก.ส. เพื่ออนุมัติในรายละเอียด และเสนอให้ ครม.พิจารณา ในวันที่ 26 ก.ย.นี้
“การพักชำระหนี้ของเกษตรกรในครั้งนี้จะแตกต่างจากอดีต คือ แม้จะเข้าโครงการพักหนี้แล้วก็ตาม แต่เกษตรกรยังกู้ยืมเงินเพิ่มเติมเพื่อนำไปประกอบอาชีพ จาก ธ.ก.ส.ได้ เพื่อให้หลังจากพ้นเวลาพักหนี้แล้ว เกษตรกรจะกลับมาแข็งแกร่งขึ้นอีกครั้ง โดยระหว่างการพักหนี้ ธ.ก.ส.ก็จะเปิดโอกาสให้เกษตรกรที่ต้องการชำระหนี้ สามารถชำระหนี้เข้ามาได้ โดยจะนำไปตัดส่วนที่เป็นเงินต้นเป็นส่วนใหญ่ เพื่อให้หลังพ้นการพักแล้ว เกษตรกรจะได้มีภาระหนี้ลดลง”.