ครม.นัดแรก “ลดราคาน้ำมัน” กับ ต้นทุนที่ไทยต้องจ่าย บนหนี้กองทุนน้ำมันติดลบ 6 หมื่นล้าน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ครม.นัดแรก “ลดราคาน้ำมัน” กับ ต้นทุนที่ไทยต้องจ่าย บนหนี้กองทุนน้ำมันติดลบ 6 หมื่นล้าน

Date Time: 13 ก.ย. 2566 11:43 น.

Video

“ไทยรัฐ โลจิสติคส์” ถอดคราบ “ยักษ์เขียว” มุ่งสู่ขนส่งครบวงจร | Thairath Money Talk

Summary

  • ที่ประชุม ครม.นัดแรก นายกฯ เซอร์ไพรส์ มาตรการ “ลดราคาน้ำมัน” ยาวถึงสิ้นปี 2566 ขณะภาคการเงิน ชวนวิเคราะห์ ต้นทุนที่ไทยต้องจ่าย กับทางเลือก ตรึงดีเซล บนหนี้กองทุนน้ำมันติดลบ 6 หมื่นล้าน หรือ อีกทางเลือก ลดภาษีสรรพสามิต ปลายทางต้องเจอหนี้สาธารณะพุ่ง ท่ามกลาง เอกชน ผวาน้ำมันโลก อาจกลับมาพุ่ง เฉียด 100 เหรียญอีกครั้ง

Latest


แม้ก่อนหน้าจะไม่เป็นที่แน่จริง ว่าเรื่องเซอร์ไพรส์ ของการประชุม ครม.นัดแรกวันนี้ จะเป็นอะไรกันแน่! หลังจากวานนี้ นายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” ระบุกับสื่อ ว่าให้รอติดตาม ทำข่าวใหญ่ในช่วงบ่าย ถึง ความชัดเจนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลักๆ ออกมา 

5 นโยบายเร่งด่วนรัฐบาลเศรษฐา  

ซึ่งหากพิจารณาถึง นโยบายเร่งด่วน ที่รัฐบาลแถลงไว้ต่อรัฐสภา จะประกอบไปด้วย 5 เรื่อง ได้แก่...

  1. การแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ซึ่งเป้าหมายคือหวังกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยปลายทาง คือ มีภาษีกลับคืนสู่คลังมากขึ้น 
  2. การแก้ปัญหาหนี้สินภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ภาคประชาชน 
  3. ลดค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม น้ำมันเชื้อเพลิง  
  4. การสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว ฟรีวีซ่า หรือ วีซ่าฟรี 
  5. แก้ปัญหาความเห็นต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ  

โดยความเป็นไปได้มากสุด ถูกประเมินว่า อาจจะเป็นนโยบายลดราคาพลังงาน ไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม และ ราคาน้ำมัน ตามข้อเรียกร้องของประชาชน และภาคเอกชน อุตสาหกรรม ที่แบกต้นทุนสูง ส่งผลต่อราคาสินค้าอุปโภค และ บริโภค 

ขณะปัญหาวิกฤติพลังงานนั้น ต่างมีความคาดหวังกันว่า อยากให้รัฐบาล มุ่งไปสู่ การปรับโครงสร้างพลังงานทั้งระบบ มากกว่า การปรับลดราคาเป็นครั้งคราว เพราะเมื่อครบกำหนดเวลาแล้ว ปัญหาก็จะกลับมาใหม่ทุกครั้ง  

(อัพเดท) ล่าสุด มีรายงานว่า ที่ประชุมครม. ได้มีมติลดราคาน้ำมันดีเซล ด้วยการลดภาษีสรรพสามิต ขณะที่น้ำมันเบนซินปรับลดด้วย ผ่านการใช้วิธีการลดค่าการตลาด โดยให้มีผลบังคับใช้ เริ่มตั้งแต่วันที่  20 ก.ย.ถึง 31 ธ.ค.2566

ลดราคาน้ำมันดีเซล ทำได้จริงไหม? 

ทั้งนี้ จากข่าวลดราคาน้ำมันล่าสุด  มีการวิเคราะห์แนวทางความเป็นไปได้ ออกมาจาก “KKP Research” โดยระบุว่า 

แม้ว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกจะลดลงมาค่อนข้างมากจากปีที่แล้ว แต่ราคาดีเซลปลีกของไทย กลับไม่ค่อยลดลงตามมากนักและค้างอยู่ที่มากกว่า 30 บาท/ลิตร จนกลายเป็นเสียงบ่นให้รัฐบาลควรเข้ามาจัดการอย่างเร่งด่วน และจะเป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญแรกๆ ของ #รัฐบาลเศรษฐา ที่จะได้เห็นกันแน่นอน แต่หาก ถามว่ามาตรการนี้จะทำได้หรือไม่ ทำอย่างไร และมีต้นทุนที่ต้องจ่ายมากน้อยแค่ไหน พบมีความเสี่ยงที่ตามมาให้พิจารณาอยู่มากเช่นกัน 

2 กลไกความเป็นไปได้ ตรึงราคาน้ำมันดีเซล 

หากยังจำกันได้ในปีที่แล้วที่ราคาปลีกดีเซลพุ่งขึ้นจากประมาณ 28 บาท/ลิตร ช่วงต้นปี มาเป็น 34.9 บาท/ลิตร ในช่วงกลางปี และถูกตรึงราคาไว้ยาวนาน จนถึงช่วงกลางปีที่ผ่านมา และเริ่มทยอยปรับลดลงมาเหลือ 31.9 บาท/ลิตร ในปัจจุบัน   

ตอนนั้นรัฐบาลใช้ 2 กลไกในการตรึงราคาดีเซลไม่ให้เพิ่มไปมากกว่านั้น คือ...

1) กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 

อุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล (และก๊าซ LPG ด้วย) จนทำให้สถานะของกองทุนฯ ลดลงจากที่มีเงินสะสมเกือบ 4 หมื่นล้านบาทตอนก่อนโควิด-19 พลิกกลับมาเป็นหนี้สูงสุดถึง 1.32 แสนล้านบาท ในเดือน พ.ย. 2022 ซึ่งสูงสุดตั้งแต่มีกองทุนฯ มา และเคยต้องอุดหนุนสูงสุดถึงลิตรละ 10.9 บาท  

2) ลดภาษีน้ำมันสรรพสามิตดีเซล 

รวมทั้งหมด 7 ครั้ง ตั้งแต่เดือน ก.พ. 2022 ถึง ก.ค. 2023 หรือเกือบ 1 ปีครึ่ง ทำให้รัฐต้องสูญเสียรายได้หรือเป็นต้นทุนของมาตรการรวมกันกว่า 1.58 แสนล้านบาท 

หวั่น สถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ติดลบเพิ่มจาก 6 หมื่นล้าน 

การไม่ต่ออายุมาตรการลดภาษีสรรพสามิตในเดือนก.ค. ที่ผ่านมา โดยยังตรึงราคาไว้ที่ 31.9 บาทเหมือนเดิม ทำให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยังต้องอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลลิตรละ 5.4 บาท จากปริมาณการใช้งาน 63-70 ล้านลิตร/วัน ซึ่งคิดเป็นต้นทุนวันละ 370 ล้านบาท หรือเดือนละ 1.1 หมื่นล้านบาทอยู่แล้ว  

จนทำให้สถานะของกองทุนน้ำมันเริ่มกลับมาติดลบมากขึ้นในเดือนที่ผ่านมา (หลังจากสถานะเริ่มดีขึ้นจากราคาน้ำมันที่ลดลงในช่วงที่ผ่านมาและมีมาตรการลดภาษีมาช่วยแบกภาระไปบางส่วน เปิดช่องให้เก็บเงินเข้ากองทุนมากขึ้น) โดยปัจจุบันกองทุนฯ เป็นหนี้สะสมอยู่ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท 

“การลดราคาน้ำมันดีเซลหลังจากนี้ ทุกๆ 1 บาท จะมีต้นทุนเพิ่มเติมอีกประมาณวันละ 70 ล้านบาท หรือเดือนละ 2,000 ล้านบาท และถ้ารัฐบาลเลือกลดราคาน้ำมันดีเซลอีก 1 บาท ผ่านกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงทั้งหมด สถานะกองทุนจะกลับไปติดลบทำลายสถิติอีกครั้งภายใน 5 เดือน และถ้าจะลดราคาอีก 5 บาทสถานะกองทุนจะติดลบทำลายสถิติภายใน 3 เดือนเท่านั้น" 

ไหวไหม? ตรึงดีเซล สู้ทิศทาง ราคาน้ำมันโลก  

ทางเลือกที่น่าจะเป็นไปได้มากกว่าคือการกลับมาลดภาษีสรรพสามิต ที่ยังสามารถลดได้สูงสุดประมาณ 6 บาท ด้วยต้นทุนการคลังสูงสุด 1.2 หมื่นบาทต่อเดือน หรือ 1.44 แสนล้านบาทต่อปี เท่ากับ 4% ของงบประมาณประจำปีที่สุดท้ายจะกลายเป็นหนี้สาธารณะของประเทศต่อไป อย่างไรก็ดี ในอนาคตยังมีความเสี่ยงที่นโยบายดังกล่าว อาจจะทำได้ไม่เต็มที่ จากราคาน้ำมันตลาดโลกที่กำลังปรับเพิ่มขึ้น 

โดย 3 เดือนที่ผ่านมาราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นมาแล้ว 18% จาก 74.9 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ในเดือน มิ.ย. มาเป็น 88.8 เหรียญสหรัฐในปัจจุบัน และทำให้ราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นปรับเพิ่มมากว่า 5 บาทต่อลิตรแล้ว  

ในกรณีที่ราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหลังจากนี้ และไม่สามารถลดภาษีสรรพสามิตได้อีก การตรึงราคาดีเซลต่อไปจะทำให้สถานะกองทุนน้ำมันฯ ติดลบลงอย่างรวดเร็วจนอาจจะถึงระดับ 3-5 แสนล้านบาท ในกรณีที่ราคาเพิ่มขึ้น 2-4 บาท/ลิตรภายในสิ้นปีหน้า 

ขณะสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) วานนี้ เพิ่งออกมาให้ข้อมูลและความเห็นว่า ขณะนี้ เอกชนไทย โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม มีความกังวล เกี่ยวกับ แนวโน้มราคาน้ำมันตลาดโลกเริ่มปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก ซึ่งเมื่อประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่า ทำให้ ขณะนี้ ไทยต้อง นำเข้าราคาน้ำมันของไทยแพงขึ้น แต่ที่น่าห่วง คือ เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว ตามปกติ จะยิ่งกดดันราคาน้ำมันตลาดโลกขยับขึ้น โดยมีโอกาสที่ราคาน้ำมัน จะไปแตะระดับ 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล อยากให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาเตรียมพร้อมไว้ 

กระทรวงพลังงาน ย้ำประชาชนต้องเข้าถึง ราคาพลังงานที่เป็นธรรม 

ท้ายที่สุด เมื่อพิจารณา ถึงการชี้แจงเรื่อง ราคาพลังงาน ในสภา ของ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ย้ำว่า สำหรับการกำกับดูแลด้านพลังงาน รัฐบาลจะมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การกำกับดูแลด้านพลังงานดีขึ้น 

ย้ำ เรื่องราคาพลังงาน จะพยายามแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน โดยการแก้ไขปัญหาระยะสั้น จะแก้ไขทันทีภายใต้โครงสร้างปัจจุบัน แต่ในระยะยาว กำลังศึกษา ดูโครงสร้างราคาพลังงาน ทั้งราคาน้ำมัน และค่าไฟฟ้า ว่าจะปรับปรุงอย่างไร เพื่อให้เกิดราคาที่เป็นธรรม ยั่งยืนที่สุด 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ