ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังเร่งหามาตรการพักชำระหนี้ ตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งได้มอบหมายจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง โดยให้เน้นกลุ่มลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ทั้งเกษตรกรและผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่มีหนี้ 100,000 บาท ถึง 1 ล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแบ่งเบาภาระให้ลูกค้า ส่วนการดำเนินการพักชำระหนี้เกษตรกรนั้น ได้มอบหมายให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) หามาตรการมาดำเนินการแล้ว เนื่องจาก ธ.ก.ส.มีลูกค้าเป็นเกษตรกรจำนวนมาก
สำหรับแนวทางการพักชำระหนี้เบื้องต้นนั้น จะพักชำระหนี้ทั้งต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 ปี โดยรัฐบาลจะสนับสนุนเงินงบประมาณเพื่อจ่ายดอกเบี้ยให้กับ ธ.ก.ส.ภายหลังได้ ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะไม่กระทบต่อการจัดชั้นของลูกหนี้ และไม่เข้าข่ายถูกจัดชั้นเป็นลูกหนี้เสียที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล ซึ่ง รมว.คลังได้หารือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นเรียบร้อยแล้ว ซึ่งมาตรการดังกล่าว จะทำให้ลูกหนี้ เกษตรกร มีเงินไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจก่อน ไม่ต้องนำมาใช้หนี้ ธ.ก.ส. แต่เมื่อครบเวลา 3 ปี เชื่อว่าเศรษฐกิจดีขึ้น เกษตรกร มีรายได้เพิ่มขึ้น จะสามารถนำเงินมาชำระหนี้ได้อย่างแน่นอน
ทั้งนี้ การพักหนี้กลุ่มเกษตรกรและเอสเอ็มอี นั้น จะเน้นไปที่กลุ่มรายย่อยเท่านั้น ส่วนรายใหญ่จะไม่เข้าข่าย เพราะจะจำกัดมูลหนี้ไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยรวมแล้วจะมีลูกหนี้ที่เข้าข่ายไม่น่าจะถึง 90-95% ของฐานลูกหนี้เกษตรกรทั้งหมด โดย ธ.ก.ส.อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลลูกหนี้ เพื่อเตรียมเสนอต่อรัฐบาลภายในวันที่ 11 ก.ย.นี้ โดยมีแผนที่จะเสนอพักหนี้ตั้งแต่มูลหนี้ 100,000 บาท ถึง 1 ล้านบาท กรณีพักชำระหนี้ในวงเงิน 1 ล้านบาท จะครอบคลุมลูกหนี้รายย่อยถึง 95% ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมด
นอกจากนี้ รัฐบาลต้องการให้กระทรวงการคลังเข้าไปดูแลลูกหนี้ในกลุ่มที่เป็นหนี้สหกรณ์ หนี้ครู หนี้ตำรวจ และหนี้นอกระบบ โดยให้ดำเนินการผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินรัฐ ขณะเดียวกัน สิ่งที่รัฐบาลเป็นห่วงมาก คือ กลุ่มลูกหนี้ที่กู้สินเชื่อรถยนต์ ซึ่งปัจจุบันพบข้อมูลว่า เริ่มมีการค้างชำระมากขึ้น ซึ่งได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาหาแนวทางช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มดังกล่าวด้วย สำหรับนโยบายเรื่องงดจ่ายเบี้ยคนชราในกลุ่มผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มคนรวยนั้น เบื้องต้น รัฐบาลยังไม่มีนโยบายที่จะดำเนินการแต่อย่างใด
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า มาตรการพักหนี้ทั้งต้นและดอกเบี้ยในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้นำมาใช้ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยได้ลืมตาอ้าปาก โดยมูลหนี้อยู่ที่ 100,000 บาท เป็นเวลา 3 ปีเช่นกัน มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 2.25 ล้านราย โดยรัฐบาลเป็นผู้ชดเชยการจ่ายดอกเบี้ยให้บางส่วน
อย่างไรก็ตาม นโยบายของพรรคเพื่อไทย ระบุว่า นโยบายเพิ่มรายได้เกษตร รายได้ของเกษตรกรจะเพิ่มเป็น 3 เท่าภายในปี 2570 จากรายได้เฉลี่ย 10,000 บาทต่อไร่ต่อปี เพิ่มเป็น 30,000 บาทต่อไร่ต่อปี เพราะทั้งราคาและผลผลิตต่อไร่ที่ต่ำ เมื่อเผชิญกับต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าครึ่งหนึ่งของรายรับ จึงทำให้รายได้เหลือไม่พอต่อการชำระหนี้ และการยังชีพอย่างมีคุณภาพ พรรคเพื่อไทยจะสร้างระบบยืนยันราคาทำให้ราคาสินค้าเกษตรดี นำนวัตกรรมการเกษตรมาเพิ่มปริมาณผลผลิต และลดต้นทุนการผลิต รายได้สุทธิของเกษตรกรจะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเป็น 3 เท่าของที่เคยได้รับ
ส่วนพักหนี้เกษตรกร 3 ปี ทั้งต้น ทั้งดอกทันที เพื่อลดภาระในการทำมาหากินของพี่น้องเกษตรกร มุ่งสร้างรายได้ให้พี่น้องเกษตรกรเพิ่มขึ้น 3 เท่าภายใน 4 ปี ด้วยหลัก “ตลาดนำนวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” การสร้างทางเลือกให้เกษตรกรเพื่อผลิตสิ่งที่ตลาดต้องการ เปิดตลาดใหม่เพิ่มโอกาสในการส่งออกสินค้าให้เกษตรกร การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่สร้างความแม่นยำในการเพาะปลูกเพื่อเพิ่มจำนวนและคุณภาพของผลผลิต และใช้นวัตกรรม Blockchain เพื่อประกันราคาสินค้าเกษตรล่วงหน้า สร้างความเป็นธรรมให้เกษตรกรด้วยการให้ราคาผลผลิตที่เกษตรกรควรได้รับ อีกทั้งต้องผ่าตัดภาคเกษตรเริ่มที่การเพิ่มอุปสงค์และปรับอุปทานภาคการเกษตร นำนวัตกรรม มาสนับสนุน การเพิ่มผลิตภาพ การลดต้นทุน การแปรรูปสู่มูลค่าที่เพิ่มสูงขึ้น ตามแนวทาง 6 ประการ คือ 1.ดินนำน้ำดี 2.มีสายพันธุ์ 3.ยืนยันราคา 4.จัดหาแหล่งทุน 5.หนุนนำนวัตกรรม 6.จัดทำกรรมสิทธิ์ที่ดิน.