ดันสนามบินดอนเมืองรับ 50 ล้านคนต่อปี ทอท.ทุ่ม 3.6 หมื่นล้านลุยอาคารผู้โดยสารเฟส 3

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ดันสนามบินดอนเมืองรับ 50 ล้านคนต่อปี ทอท.ทุ่ม 3.6 หมื่นล้านลุยอาคารผู้โดยสารเฟส 3

Date Time: 30 ส.ค. 2566 07:50 น.

Summary

  • ทอท.ลุยสร้างอาคารผู้โดยสารสนามบินดอนเมืองเฟส 3 ทุ่มงบกว่า 3.6 หมื่นล้าน เร่งออกแบบ เริ่มสร้างปี 68 คาดเปิดใช้อาคารใหม่หลังที่ 3 ปลายปี 70 รับผู้โดยสารได้เพิ่มอีก 22 ล้านคนต่อปี หรือเพิ่มเป็น 50 ล้านคนต่อปี พร้อมชงรัฐบาลใหม่เคาะโอน 9 สนามบิน ทย.มาอยู่ภายใต้ ทอท. คาดหากไม่มีปัญหา จะเข้าบริหารสนามบิน “กระบี่-อุดรฯ-บุรีรัมย์” ได้ปลายปีนี้

Latest

“พิชัย” เปิดเวทีชวนนักลงทุนเข้าไทย

นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยภายหลังการประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 งานจ้างสำรวจและออกแบบโครงการพัฒนาสนามบินดอนเมืองระยะ (เฟส) ที่ 3 ว่า ทอท.จะใช้เวลาดำเนินการออกแบบฯ ประมาณ 10 เดือน จากนั้นจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ คาดว่าจะเปิดประมูลได้ภายในปลายปี 67 เริ่มก่อสร้างต้นปี 68 โดยอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ อาคาร 3 ระหว่างประเทศ ซึ่งมีพื้นที่ 140,000 ตารางเมตร (ตร.ม.) จะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ประมาณปลายปี 70 จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 22 ล้านคนต่อปี

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปิดให้บริการอาคาร 3 ทาง ทอท.จะปิดปรับปรุงอาคาร 1 ซึ่งให้บริการผู้โดยสารระหว่างประเทศในปัจจุบัน โดยจะรวมกับอาคาร 2 เพื่อเพิ่มพื้นที่การให้บริการภายในประเทศเพิ่มขึ้นจาก 1.1 แสน ตร.ม. เป็น 2.3 แสน ตร.ม. ซึ่งจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ประมาณปี 72 อย่างไรก็ตาม การพัฒนาสนามบินดอนเมืองมีวงเงินลงทุนโครงการ 36,829 ล้านบาท โดยเมื่อพัฒนาโครงการแล้วเสร็จจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของสนามบินได้มากขึ้น จากเดิม 30 ล้านคนต่อปี เป็น 40 ล้านคนต่อปี และสามารถบริหารจัดการให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 50 ล้านคนต่อปี ซึ่งปัจจุบันสนามบินดอนเมืองมีผู้โดยสารมาใช้บริการวันละประมาณ 70,000 คนต่อวัน

นอกจากนั้น ทอท.ยังได้เตรียมเสนอแผนการดำเนินงานให้รัฐบาลชุดใหม่พิจารณา 3 เรื่อง ซึ่งเบื้องต้นได้รายงานให้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี รับทราบบ้างแล้ว ประกอบด้วย 1.การบริหารจัดการ และเพิ่มประสิทธิภาพของท่าอากาศยาน 6 แห่งของ ทอท.ในการรองรับผู้โดยสาร อาทิ ลดแออัด และจัดสลอตการบิน 2.แผนการพัฒนาท่าอากาศยานของ ทอท. ได้แก่ สนามบินดอนเมือง เฟส 3, โครงการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ เฟส 2, โครงการพัฒนาสนามบินภูเก็ต เฟส 2 และโครงการพัฒนาสนามบินเชียงใหม่ เฟส 1 และ 3.การรับโอนท่าอากาศยานจากกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ซึ่งขณะนี้กระทรวงคมนาคมมีแนวคิดให้ ทอท.รับโอนท่าอากาศยานจาก ทย.เพิ่มขึ้นจาก ครม.เดิมที่ให้ ทอท.เข้าไปบริหารจัดการสนามบิน ทย. 3 แห่งได้แก่ สนามบินบุรีรัมย์, สนามบินกระบี่ และสนามบินอุดรธานี โดยปัจจุบันกระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างการพิจารณาร่วมกันว่าจะให้ ทอท.รับโอนท่าอากาศยานใดเพิ่มบ้าง

นายกีรติกล่าวต่อว่า จากการหารือกับนายเศรษฐาเบื้องต้น ได้กำชับว่า นอกจากจะรับโอนท่าอากาศยานที่มีศักยภาพในการเติบโตในอนาคตแล้ว ควรรับโอนท่าอากาศยานที่ขาดทุนด้วย ห้ามรับโอนเฉพาะท่าอากาศยานที่มีกำไร เบื้องต้นคาดว่าท่าอากาศยานใหม่ที่ ทอท.จะเข้าไปบริหารเพิ่มเติมนั้นมีอีก 6 แห่ง อาทิ สนามบินพิษณุโลก, แม่สอด, อุบลราชธานี, ขอนแก่น, ตรัง และระนอง ทั้งนี้ เรื่องการเข้าไปบริหารจัดการท่าอากาศยานของ ทย.นั้น ต้องเสนอที่ประชุม ครม.ใหม่ และรอฟังนโยบายที่ชัดเจนจากรัฐบาลอีกครั้ง ก่อนที่จะดำเนินการเข้าบริหารสนามบิน โดยจะเสนอพร้อมกันทั้ง 9 สนามบิน ซึ่งหาก ครม.ไม่มีปัญหาใด คาดว่าจะสามารถเข้าบริหาร 3 สนามบินแรกได้ภายในปลายปี 67

นายกีรติกล่าวอีกว่า ในวันที่ 28 ก.ย.66 ทอท.พร้อมเปิดให้บริการอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) อย่างไม่เป็นทางการ เบื้องต้นจะมีสายการบินให้บริการ 3 สายการบิน ได้แก่ สายการบินไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์, สายการบินเวียต เจ็ท, และสายการบินเอมิเรตส์ โดยจะให้บริการรวมประมาณวันละ 12 เที่ยวบิน จากนั้นคาดว่าจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเต็มรูปแบบได้ประมาณเดือน ธ.ค.66 ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของสนามบินสุวรรณภูมิได้เพิ่มขึ้นจาก 45 ล้านคนต่อปี เป็น 60 ล้านคนต่อปี.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ