นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนทุกอำเภอทั่วประเทศเดือน ก.ค.66 เกี่ยวกับการใช้จ่ายในปัจจุบันที่อัตราเงินเฟ้อลดลง และอัตราดอกเบี้ยที่ทยอยปรับสูงขึ้น จัดทำโดย สนค.ว่า ผู้ตอบแบบ สอบถามมากถึง 68.75% ยังคงใช้จ่ายเท่าเดิมและลดลงในช่วงนี้ที่เงินเฟ้อลดลง สะท้อนให้เห็นว่า เงินเฟ้อที่ลดลงช่วยประคับประคองให้ประชาชนใช้จ่ายได้ในระดับเดิม และอีก 31.25% ที่ภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
โดยเมื่อพิจารณาเป็นรายอาชีพ และระดับรายได้ พบว่า กลุ่มที่มีสัดส่วนผู้ที่ใช้จ่ายเพิ่มขึ้นสูงสุดคือ กลุ่มผู้ไม่ได้ทำงาน/บำนาญ 45.0% และผู้มีรายได้ไม่เกิน 5,000 บาท/เดือน 38.14% อาจสะท้อนว่า ประชาชนกลุ่มนี้ยังคงได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าและบริการบางส่วนที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ส่วนประเภทสินค้าและบริการที่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมากที่สุด 3 อันดับแรก คือค่าอาหารและเครื่องดื่มที่รับประทานที่บ้าน ค่าไฟฟ้า/ น้ำประปา และค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ส่วนอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นนั้น ผู้ตอบมากถึง 59% ระบุว่ากระทบต่อการใช้จ่าย การออมและการลงทุน ระดับปานกลางถึงมาก โดยทุกกลุ่มอาชีพและระดับรายได้ได้รับผลกระทบระดับปานกลางเป็นอันดับแรก มีเพียงผู้ไม่ได้ทำงาน/บำนาญ, เกษตรกรและผู้มีรายได้ 40,001-50,000 บาท/เดือน ที่ได้รับผลกระทบมาก
สำหรับการปรับตัวของผู้ที่ได้รับผลกระทบน้อยถึงปานกลาง 3 อันดับแรก ได้แก่ ลดการซื้อของฟุ่มเฟือย ลดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และชะลอการลงทุน/การทำธุรกิจ ส่วนผู้ได้รับผลกระทบมาก เช่น กลุ่มเกษตรกร และผู้มีรายได้ไม่เกิน 5,000 บาท/เดือน จะลดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเป็นอันดับแรก สะท้อนถึงความสามารถในการวางแผนทางการเงินที่จำกัด และอาจได้รับผลกระทบมากหากภาวะค่าครองชีพและหนี้ที่สูงขึ้น
“การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ขณะที่การลดลงของเงินเฟ้อ มีส่วนช่วยให้ยังคงใช้จ่ายได้ในระดับเดิมและลดลง แต่ยังคงมีบางกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งหากภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง จะช่วยบรรเทาค่าครองชีพประชาชนกลุ่มนี้ได้”.