ผุดแพลตฟอร์มสตรีมมิงแห่งชาติ รองรับฉากทัศน์อุตสาหกรรมทีวีพลิกโฉม ใบอนุญาตครั้งแรกหมดอายุ 2572

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ผุดแพลตฟอร์มสตรีมมิงแห่งชาติ รองรับฉากทัศน์อุตสาหกรรมทีวีพลิกโฉม ใบอนุญาตครั้งแรกหมดอายุ 2572

Date Time: 30 ส.ค. 2566 07:30 น.

Summary

  • “กสทช.พิรงรอง” ประเมินการประมูลคลื่นทีวีดิจิทัลหลังใบอนุญาตจากการประมูลครั้งแรกจะหมดอายุลงในปี 2572 น่าจะเกิดขึ้นยาก จากฉากทัศน์ของอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนไป โชว์ไอเดียผุดแพลตฟอร์มสตรีมมิงแห่งชาติรองรับ

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

น.ส.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ เปิดเผยว่า หลังดำรงตำแหน่งมา 1 ปี 4 เดือน ได้กำหนดนโยบายด้านกิจการโทรทัศน์ทั้งสิ้น 5 เรื่อง ได้แก่ 1.การส่งเสริมอุตสาหกรรมโทรทัศน์ในช่วงเปลี่ยนผ่าน (Online Migration) สู่การกำหนดแนวทางของทีวีดิจิทัลหลังปี 2572 ซึ่งใบอนุญาตทีวีดิจิทัลจะหมดอายุลง

2.การวางแนวทางการกำกับดูแลเพื่อรองรับการหลอมรวมแพลตฟอร์มทีวีออนไลน์ในรูปแบบของ OTT (Over the Top) ซึ่งกำลังได้รับความนิยมทดแทนการดูโทรทัศน์ในระบบดิจิทัลเดิม

3. การส่งเสริมการผลิตคอนเทนต์คุณภาพและความหลากหลาย รวมทั้งสร้างบุคลากรและอุตสาหกรรมที่มีมาตรฐานด้านเทคโนโลยีและจริยธรรม

4.การกำกับเนื้อหาและส่งเสริมรายการคุณภาพ

5.การส่งเสริมคอนเทนต์ในประเทศและสื่อท้องถิ่นชุมชน

โดยในส่วนของการส่งเสริมทีวีดิจิทัลก่อนใบอนุญาตหมดอายุในปี 2572 นั้น ขณะนี้ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่าการประมูลใบอนุญาตน่าจะเกิดขึ้นได้ยาก เนื่องจากฉากทัศน์ของอุตสาหกรรมเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการแข่งขันจากสื่อทีวียุคใหม่ที่เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ OTT จากต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม จากที่ได้มีการหารือร่วมกัน อย่างต่อเนื่อง ระหว่างผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล สมาคมโฆษณา ผู้ผลิตสมาร์ททีวี ต่างเห็นพ้องในไอเดียสร้างแพลตฟอร์มสตรีมมิงแห่งชาติ (National Streaming Platform) เพื่อให้เป็นแพลตฟอร์มสตรีมมิงสำหรับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ซึ่งการวางระบบแพลตฟอร์มกลางดังกล่าว จะช่วยให้คอนเทนต์สตรีมมิงของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลถูกรวบรวมไว้ในแพลตฟอร์มเดียว สะดวกและมีการวัดผลเป็นมาตรฐานเดียวกันสำหรับผู้ซื้อโฆษณาด้วย

“แพลตฟอร์มสตรีมมิงแห่งชาติดังกล่าว จะรองรับการออกอากาศสดแบบเรียลไทม์พร้อมกับการออกอากาศผ่านระบบดิจิทัลเท่านั้น ซึ่งขณะนี้พบว่าแต่ละช่องทีวีดิจิทัลเลือกใช้แพลตฟอร์มกระจัดกระจายและไม่มีการรวมศูนย์ ยากแก่การวัดเรตติ้งซึ่งนำไปสู่การซื้อโฆษณา”

น.ส.พิรงรอง กล่าวอีกว่า อนาคตไม่ไกลจากนี้ อุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลยังจะมีความเสี่ยงเรื่องจำนวนคลื่นความถี่ที่อาจไม่เพียงพอ ทั้งจากเทรนด์โลกซึ่งกำหนดโดยสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ให้มีการโอนคลื่นความถี่ที่ใช้งานโทรทัศน์ส่วนหนึ่ง ไปให้บริการโทรคมนาคม ซึ่งจะทำให้คลื่นความถี่ที่ใช้งานในระบบทีวีดิจิทัลปัจจุบันหายไปกว่า 35% นอกจากนั้นการมาถึงของเทคโนโลยี 4K ซึ่งเป็นระบบภาพคมชัดยิ่งกว่า จะเพิ่มปริมาณการใช้งานคลื่นในการแพร่ภาพมากยิ่งขึ้น โดยมีการประเมินกันว่าคลื่นความถี่สำหรับบริการโทรทัศน์ประเทศไทย ซึ่งใช้งานกันในปัจจุบันระหว่างคลื่นความถี่ 470 MHz-690 MHz นั้น น่าจะเพียงพอสำหรับการใช้งานของสถานีทีวีดิจิทัลที่ออกอากาศด้วยเทคโนโลยี 4K เพียง 3-5 ช่องเท่านั้น จากปัจจุบันที่มีจำนวนทีวีดิจิทัลทั้งสิ้น 25 ช่อง

น.ส.พิรงรอง ยังกล่าวถึงแนวทางการกำกับดูแลแพลตฟอร์มทีวีออนไลน์หรือ OTT ว่า ภายใต้ พ.ร.ฎ.ควบคุมดูแลการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 21 ส.ค.2566 ที่ผ่านมา กสทช.มีขอบเขตอำนาจในการกำกับดูแลแพลตฟอร์มทีวีออนไลน์ โดยมีแนวทางกำกับดูแลครอบคลุมการปกป้องเด็กและผู้บริโภค, ปิดกั้นภาพโป๊ เปลือย อนาจาร, อาหารและยาที่ต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการอาหารและยา (อ.ย.) และคุ้มครองข้อมูลของผู้บริโภคภายใต้หลักการของ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลหรือ PDPA.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ