นางสาววรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและ สังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวในงานเสวนา “ข้ามรุ่น อนาคตประเทศไทย” จัดโดย สศช.ร่วมกับกองทุนประชากรแห่งประเทศไทย ว่า โครงสร้างประชากรไทยถือเป็นสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ และมีแนวโน้มที่จะมีประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น โดยปี 66 มีผู้สูงอายุ 13.5 ล้านคน คิดเป็น 20% ของประชากรทั้งประเทศ ส่วนอีก 10 ปีข้างหน้า หรือปี 76 จะเป็นสังคมผู้สูงอายุแบบสุดยอด มีผู้สูงอายุ 18.38 ล้านคน หรือ 28% ของประชากรทั้งหมด จากนั้นปี 83 ผู้สูงอายุจะเพิ่มเป็น 20.51 ล้านคน หรือ 31.37% ของประชากรทั้งหมด เท่ากับว่าประชากรสูงอายุจะคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของประชากรทั้งประเทศ
ทั้งนี้ การสำรวจรายได้ผู้สูงอายุ 34% หรือ 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุที่เข้า สู่วัยเกษียณแล้วของประเทศไทยยังคงทำงานอยู่ แต่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน
โดยผู้สูงอายุกว่า 78.3% มีรายได้ต่ำกว่า 100,000 บาทต่อปี ยกเว้น ข้าราชการเท่านั้นที่เกษียณแล้วมีรายได้จากเงินบำนาญชัดเจนไม่ต่ำกว่า 40% ของรายได้เดือนสุดท้ายที่ได้รับ ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ที่ออมเงินอยู่ในช่องทางอื่น เช่น ประกันสังคม หรือกองทุนการออมแห่งชาติ มีไม่เพียงพอที่จะใช้จ่ายในวัยเกษียณ “มีการนำเสนอรูปแบบการออมสำหรับผู้สูงอายุหลายรูปแบบ
โดยรูปแบบที่มีการเสนอผ่านคณะกรรมการปฏิรูปสังคมและ สศช.เห็นว่าเป็นแนวทางที่ดี คือการปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) จาก 7% เป็น 10% โดยส่วนที่ปรับขึ้น 3% รัฐอาจออกกฎหมายเฉพาะให้ส่วนนี้มาเป็นเงินออมของประชาชนเพื่อใช้วัยเกษียณ โดยทำความเข้าใจให้ประชาชนยอมรับการขึ้นภาษีนี้ได้ เพราะทำให้มีหลักประกันวัยเกษียณ และรัฐก็มีแหล่งรายได้ที่ชัดเจน นำมาจัดสวัสดิการให้ประชาชนสูงวัยในอนาคต”
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า ช่วง 10 เดือนของปีงบประมาณปี 66 (ต.ค.65-ก.ค.66) รัฐจัดเก็บรายได้สุทธิ 2.14 ล้านล้านบาท สูงกว่าเอกสารงบประมาณ 150,899 ล้านบาท หรือ 7.6% และสูงกว่าปีก่อน 5.2%
หากไม่รวมรายได้พิเศษของส่วนราชการอื่นๆ ผลการจัดเก็บรายได้จะสูงกว่าประมาณการ 4.1% หรือ 80,923 ล้านบาท และสูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 1.8% หน่วยงานที่จัดเก็บรายได้สูงกว่าประมาณการคือ
1.กรมสรรพากร ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีแวตและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
2.ส่วนราชการอื่น เช่น การนำส่งทุนหรือผลกำไรส่วนเกินของทุนหมุนเวียนเป็นรายได้แผ่นดิน, รายได้จากสัมปทานมือถือ เป็นต้น
3.กรมศุลกากร เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าสูงกว่าประมาณการจากเงินบาทอ่อนค่าและมีการชำระภาษีย้อนหลัง.