รื้อหลักเกณฑ์ “เบี้ยผู้สูงอายุ”

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

รื้อหลักเกณฑ์ “เบี้ยผู้สูงอายุ”

Date Time: 22 ส.ค. 2566 06:40 น.

Summary

  • “ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์” ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา!! นอกจากประเด็นการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 แล้ว ยังมีประเด็นร้อนแรงส่งท้ายรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

Latest

“พิชัย” เปิดเวทีชวนนักลงทุนเข้าไทย

“ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์” ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา!! นอกจากประเด็นการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 แล้ว ยังมีประเด็นร้อนแรงส่งท้ายรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

นั่นก็คือ ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2566 ซึ่งมีการปรับปรุงคุณสมบัติของผู้มีสิทธิจะได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุใหม่ ถือเป็นสาระสำคัญมาก

โดยมีการปรับปรุงข้อความที่ระบุไว้ว่า “เป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ” ตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติกำหนดเป็นมาตรฐานต่อไป

ทำให้พรรคการเมืองทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล และเครือข่ายประชาชน และ 53 องค์กร ดาหน้ารุมคัดค้านพร้อมล่ารายชื่อ การตัดเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เพื่อยื่นให้รัฐบาลชุดใหม่ทบทวนและผลักดันให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐแบบ “ถ้วนหน้า”

เนื่องจากตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” เป็นการแจกเบี้ยผู้สูงอายุที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปจนเสียชีวิตทุกคน

อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองหลายพรรค ทั้งเพิ่มวงเงินแจกเบี้ยผู้สูงอายุ และเพิ่มสิทธิประโยชน์อื่นๆ เนื่องด้วยจำนวนผู้สูงอายุ 11.21 ล้านคน นับเป็นฐานเสียงที่มีนัยสำคัญทางการเมืองอย่างมาก

และพลันที่ราช กิจจานุเบกษาประกาศ ระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์ การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2566 ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 ส.ค.2566 เป็นต้นไป ถือเป็นการสิ้นสุดการจ่ายเบี้ยยังชีพคนชราแบบ “ถ้วนหน้า” ที่ดำเนินการมากว่า 14 ปี ในอัตราเดือนละ 600-1,000 บาท ตามช่วงอายุผู้สูงอายุ

ส่วนผู้ที่ได้รับสิทธิเดิมอยู่แล้ว รัฐไม่ได้ตัดสิทธิ ยังคงได้รับสิทธิเดิมต่อไปไม่ว่าจะรวยหรือจน ในขณะที่ผู้ที่กำลังจะก้าวสู่วัย 60 ปีบริบูรณ์ จะได้รับผลกระทบจากการปรับหลักเกณฑ์ใหม่ทันที

จึงเกิดคำถามตามมาหลากหลายประเด็น และมองต่างมุม มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

ฟากไม่เห็นด้วย รุมคัดค้าน เพราะเห็นว่า “เงินเบี้ยผู้สูงอายุ” เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนไทย ที่ต้องได้รับเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ บางคนถึงกับเอ่ยว่า ตลอดระยะเวลาทำงานมาจนเกษียณอายุ ได้จ่ายภาษีครบทุกบาททุกสตางค์มาตลอด แต่เมื่อถึงวันที่จะได้รับคืนจากรัฐเดือนละ 600 บาท กลับถูกตัดสิทธิ

ขณะที่ฟากเห็นด้วย มองว่า เมื่อมีรายได้พอเลี้ยงชีพในยามชรา มีเงินบำนาญแล้ว ไม่ควรรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เพื่อช่วยรัฐประหยัดงบประมาณ และจะนำเงินนั้นไปพัฒนาประเทศ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีด้านอื่นๆให้ประชาชน

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่า คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน จะกำหนดหลักเกณฑ์ เส้นแบ่งระหว่างความรวยและความจน ของผู้สูงอายุอย่างไร

เนื่องจากเป็นรัฐบาลรักษาการ จึงยังไม่ได้พิจารณาหลักเกณฑ์ ที่เป็นสาระสำคัญและผูกมัดไว้ ดังนั้นต้องรอรัฐบาลใหม่ มาดำเนินการสานต่อ...ดังนั้น อย่าเพิ่งตีตน ไปก่อนไข้

เพราะผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน ยังมีหลักเกณฑ์ในการคัดกรอง แล้วเหตุใด “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” จะไม่มีหลักเกณฑ์ คัดกรอง

ทั้งนี้ความพยายามปรับหลักเกณฑ์ “เบี้ยผู้สูงอายุ “เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายเงินงบประมาณ เนื่องจากมองว่าการแจกเบี้ยผู้สูงอายุ เป็นภาระทางการคลังระยะยาว

เนื่องจากในปัจจุบันรัฐบาลจัดสรรเงินงบประมาณ เพื่อจ่ายเบี้ยยังชีพคนชราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามโครงสร้างประชากรของประเทศไทย ที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Ageing Society) อยู่ที่ 11.21 ล้านคน ซึ่งในปีงบประมาณ 2567 ได้กำหนดวงเงินงบประมาณสำหรับแจกเบี้ยผู้สูงอายุไว้ที่ 90,000 ล้านบาท และเชื่อว่างบประมาณจะทะลุ 100,000 ล้านบาทในอนาคตอันใกล้

ในอดีตเคยให้ผู้สูงอายุที่มีฐานะร่ำรวย สละสิทธิ์ไม่รับเบี้ยผู้สูงอายุด้วยความสมัครใจ แต่สุดท้ายมาลงทะเบียนไม่ถึง 100 คน

ขณะที่การจัดเก็บรายได้ของรัฐ ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก โดยยังคงเป็นงบประมาณแบบขาดดุล รายจ่ายมากกว่ารายรับ เนื่องจากจะจัดเก็บภาษีจากแหล่งใด มักจะถูกคัดค้าน ไม่ว่าจะเป็นภาษีจากการขายหุ้น ภาษีความมั่นคง ภาษีที่ดิน ภาษีลาภลอย เป็นต้น

ขณะที่ฐานผู้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล 10 ล้านคน แต่เสียภาษีจริง 3 ล้านคน และอีกหลายล้านคนพยายามเลี่ยงภาษี!!

การแจกเงินฟรี!! ให้กับประชาชนคนไทย เพื่อเป็นสวัสดิการแห่งรัฐ หากดำเนินการเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จะไม่มีเงินมาลงทุนพัฒนาประเทศโครงสร้างพื้นฐาน เพื่ออำนวยความสะดวกสบายให้ประชาชน เพราะงบประมาณส่วนใหญ่จะเป็นงบรายจ่ายประจำ

หากรัฐไม่ทบทวนหลักเกณฑ์นโยบายการแจกเงินฟรี ประเทศไทยอาจจะต้องแบกภาระหนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ประชาชนผู้เสียภาษี ต้องแบกรับภาระภาษีไปเรื่อยๆ เช่นกัน!!!

ดวงพร อุดมทิพย์

คลิกอ่านคอลัมน์ "THE ISSUES" เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ