ดัดหลังพ่อค้าน้ำมัน ผลักดันรถไฟฟ้าอีวี

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ดัดหลังพ่อค้าน้ำมัน ผลักดันรถไฟฟ้าอีวี

Date Time: 22 ส.ค. 2566 06:44 น.

Summary

  • วิกฤติราคา “น้ำมัน” ยังคงเรื้อรัง บาดหัวใจคนไทย...เบนซินโหดทะลุไมล์ ราคาดีเซลก็ไล่บี้ผู้ใช้มาอย่างหายใจไม่ทั่วท้อง หากจะแก้ปัญหานี้ ควรเริ่มจากตรงไหนและจบลง ณ จุดใด

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

วิกฤติราคา “น้ำมัน” ยังคงเรื้อรัง บาดหัวใจคนไทย...เบนซินโหดทะลุไมล์ ราคาดีเซลก็ไล่บี้ผู้ใช้มาอย่างหายใจไม่ทั่วท้อง หากจะแก้ปัญหานี้ ควรเริ่มจากตรงไหนและจบลง ณ จุดใด

ผศ.ประสาท มีแต้ม กรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านบริการสาธารณะ พลังงานและสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค บอกว่า หากเรามองภาพนโยบายอย่างกว้างๆจะพบว่าการแก้ปัญหาราคาน้ำมัน ต้องเข้าใจประเด็นสำคัญที่ว่า “น้ำมัน” เป็นสินค้าที่ผูกขาด แล้วก็หมดแล้วหมดเลย ตอนนี้ทั้งโลกน้ำมันก็ร่อยหรอไปมากแล้ว

ถ้าเราเปลี่ยนคำถามใหม่ เราไม่ใช้ “น้ำมัน” ได้ไหม? ตรงนี้อาจจะหาทางไปทางออกที่เป็นอนาคตได้ อาจารย์หยิบข้อมูลที่มีอยู่ในมือบอกว่าเมื่อปีที่แล้วรถยนต์ไฟฟ้ามียอดขายในบ้านเราอยู่ที่ 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่ในช่วง 4 เดือนปีนี้เองพบว่าเพิ่มขึ้นเป็น 6 เปอร์เซ็นต์

นี่คือทิศทางที่เราจะสามารถหลุดพ้นจากอิทธิพล “พ่อค้าฟอสซิล” ได้

“ในประเทศนอร์เวย์ 80 เปอร์เซ็นต์ของรถที่ขายได้เป็นรถไฟฟ้าอีวีหมดแล้ว ภาพสะท้อนนี้ชัดเจนว่าในระยะยาวเราไม่จำเป็นต้องไปเสพติดพลังงานฟอสซิล”

ไม่น่าจะเกิน 10 ปีจะเห็นภาพชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ วันนี้ขนาดรัฐบาลไม่ได้ส่งเสริมอะไรเลย ภาคธุรกิจเดินหน้ากันเองยังเกิดการเปลี่ยนแปลงขนาดนี้

ตัดกลับไปที่ “ราคาน้ำมัน” ในประเทศไทย ผศ.ประสาท ย้ำว่า ปัญหาสำคัญคือ “โครงสร้างราคาน้ำมัน” มันพิกลพิการ ไปอิงราคาตลาดสิงคโปร์ โดยคิดราคาเท่ากับสิงคโปร์แล้วก็บวกกับค่าขนส่งนำเข้ามาจากสิงคโปร์ ทั้งๆที่เราไม่ได้นำเข้า...น้ำมันทุกหยดในประเทศไทยเรากลั่นในประเทศไทย

ย้อนอดีตวันวาน...ยุคที่โรงกลั่นเรายังมีขนาดเล็กๆ เรากลัวว่าจะไปไม่รอด นโยบายรัฐบาลยุคสมัยเก่าก่อนก็เลยอุดหนุนเชิงนโยบายขึ้นมาบวกค่าขนส่งเข้าไปทั้งๆที่ไม่ได้ขนส่งจริง

แต่...วันนี้โรงกลั่นไทยผลิตได้มากกว่าสิงคโปร์ด้วยซ้ำไป ทว่า... กติกานี้ก็ยังไม่เปลี่ยน มูลค่าตรงนี้อยู่ที่ 1 บาทต่อลิตร...ที่บวกอยู่ในค่าน้ำมันที่แพงขึ้นไปเฉยๆ

ผศ.ประสาท มีแต้ม
ผศ.ประสาท มีแต้ม

อาจจะเคยได้ยินชื่อเรียกกันว่า “ค่าขนส่งเทียม” ซึ่งอาจรวมค่าประกัน ค่าอื่นๆเข้าไปด้วย...นี่ก็มองได้ว่าไม่เป็นธรรมข้อที่หนึ่งแล้ว ทว่าเป็นราคาที่ “ผู้บริโภค” ต้องจ่ายกันไปแบบมัดมือชก

นับจากกระบวนการซื้อน้ำมันดิบเข้ามาแล้วกลั่นในประเทศไทย เชื่อมโยงไปถึงตัวเลขตัวที่สอง นั่นก็คือ “ค่าการกลั่น” เป็นราคาผลิตภัณฑ์จากโรงกลั่นเอามารวมกันแล้วลบด้วยราคาน้ำมันดิบที่มาถึงโรงกลั่น... น้ำมันดิบ 1 บาร์เรล 159 ลิตร พอกลั่นแล้วจะเพิ่มขึ้นมาเป็น 170 กว่าลิตร ก็เป็นส่วนที่ได้กำไรอยู่แล้ว

กลั่นเสร็จก็ได้กำไรต่อไปอีก...ด้วยว่าค่าการกลั่นของประเทศไทยสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกในหลายที่ ด้วยว่าไม่มีการควบคุมแล้วก็ในช่วงสงครามรัสเซียเกิดขึ้น ปรากฏว่าโรงกลั่นทั่วโลกทำกำไรเป็น 10 เท่าตัว

ในวงการเรียกว่า...“ลาภลอย” ที่ผ่านมาก็มีนักการเมืองแนะนำให้รัฐเก็บภาษีลาภลอยที่ว่านี้ด้วยเช่นกัน อย่างในประเทศอังกฤษเก็บได้หลายหมื่นล้านบาท แต่บ้านเราไม่เก็บ...ปล่อยให้ขึ้นไปเลย

คำว่า “ลาภลอย” เพราะราคาน้ำมันขึ้นจากสถานการณ์สงครามจาก 80 เหรียญขึ้นเป็น 120...130 เหรียญ ในประเทศที่คิดถึงความเป็นธรรม รัฐบาลเขาจึงเก็บภาษีจากรายได้ที่เกิดขึ้นนี้

พุ่งเป้าไปที่ “ค่าการกลั่น” มากน้อยขึ้นอยู่กับแต่ละช่วง 5 บาทกว่าก็มี นับรวมไปถึง “ค่าการตลาด” ที่บวกเข้าไปอีกบางทีก็ 50 สตางค์ ...บางทีก็ขึ้นไป 3-4 บาทต่อลิตรก็มี ซึ่งจะเห็นว่า...ผิดปกติ

ความจริงที่เกิดขึ้น พอขอรัฐบาลลดภาษีสรรพสามิต สมมติว่าเมื่อก่อนเคาะอยู่ที่ลิตรละ 5 บาท ลดลงมาเหลือ 50 สตางค์...บริษัทน้ำมันก็กลับไปขึ้นค่าการตลาดเฉยๆเลย ราคาน้ำมันก็เลยคงๆทรงๆอยู่เท่าๆเดิม ไม่เปลี่ยนแปลงใดๆ ในความรู้สึกผู้บริโภคที่ต้องควักกระเป๋า จ่ายเติมน้ำมัน

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นให้ลองนึกถึงลูกโป่ง...เวลาเราบีบจิ้มลูกโป่งจุดใดจุดหนึ่งมันก็ยุบส่วนนั้น แต่แท้จริงมันไปโผล่อีกส่วนหนึ่ง ไม่ต่างกับราคาน้ำมันลดค่าหนึ่งแต่ไปเพิ่มอีกค่าหนึ่งราคาก็ไม่เปลี่ยนแปลง

วังวนธุรกิจน้ำมันไทยวนๆเวียนๆอยู่เช่นนี้ “ผู้บริโภค” จะมีโอกาสได้ใช้น้ำมันถูกตามกลไกตลาดจริงๆได้หรือ?

ผศ.ประสาท มองว่า กลไกราคาน้ำมันหากมองง่ายๆก็เหมือนว่าเป็นการคุมได้หมด ย้อนไปในอดีตที่ผ่านๆมาทุกๆปีก็เป็นเหมือนเดิม ทางออกปัญหาน้ำมันแพงควรที่จะต้องหาทางเลือกใหม่ ซึ่งก็คือใช้รถไฟฟ้าอีวี เลิกการพึ่งพาพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลไปเลย ราคา “น้ำมัน” จะถูกจะแพงก็ไม่ต้องไปสนใจ เราไม่ใช้เสียอย่าง

ยกตัวอย่างใกล้ตัวเข้าไปอีกในซอยบ้านผมมี 20 หลัง ตอนนี้หันไปใช้รถไฟฟ้าแล้ว 3 หลัง...สองหลังใช้เป็นรถไฟฟ้า 100 เปอร์เซ็นต์ อีกหลังใช้แบบไฮบริด รถอีวีไม่ต้องใช้น้ำมัน แล้วก็ติดโซลาร์เซลล์ชาร์จไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ สะท้อนภาพการพึ่งพาตนเองด้านพลังงาน

แต่ก็อีกนั่นแหละ ภาพวันนี้เป็นเช่นนี้ ภาพในปีหน้าก็จะต้องเปลี่ยนไป ผมยืนยันมุมมองนี้ หลายปีมาแล้วหากยังจำกันได้ อีลอนมัสก์ทำอย่างนี้ เพราะเขาขายแบตเตอรี่ ขายโซลาร์เซลล์ รถไฟฟ้าอีวี น่าสนใจว่าแนวคิดนี้ก็แพร่มาถึงเมืองไทยแล้ว อย่าเพิ่งคิดว่าจะเป็นไปไม่ได้

คำถามสำคัญมีว่า...กว่าจะไปถึงจุดนั้น วันนี้บางคนเลือกได้ก็สามารถทำได้ แต่คนไม่น้อยก็ต้องใช้น้ำมันพลังงานจากฟอสซิลเช่นเดิม จะทำอย่างไร?

“แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงในทุกๆเรื่องย่อมต้องใช้เวลา โค่นต้นไม้ใหญ่ก็ต้องใช้คนมากๆมาช่วยกันจึงจะสำเร็จ ในทางทฤษฎีมีนักพยากรณ์โทนี ซีบาคาดการณ์ไว้ว่าธุรกิจน้ำมันจะเจ๊งในปี 2030 หรือเร็วกว่านี้ด้วยซ้ำไป แต่ก็พอจะเห็นแววแล้วในหลายๆประเทศ โดยเฉพาะประเทศแถบยุโรป”

ตอกย้ำข้อดี “รถไฟฟ้าอีวี” ก็มีอยู่มากเฉพาะค่าดูแลรักษาซ่อมบำรุง ลดปัญหาโลกร้อน...จากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล แน่นอนสังคมส่วนรวมก็ต้องช่วยกันผลัก

มองในมุมราคาน้ำมันเมื่อผู้คนพึ่งพาน้อยลง ราคาจะถูกลงได้บ้างหรือไม่? ประเด็นนี้อาจารย์ประสาทบอกว่า เมื่ออยู่ในกำมือผู้เล่นไม่กี่คน กลไกราคาจะเปลี่ยนไปหรือไม่ล่ะ จะต่างจากเรื่องอื่น...ถ้าเป็นเทคโนโลยี มือถือ โซลาร์เซลล์ มีทฤษฎีอยู่ว่าทุก 2 ปี คุณภาพจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า แต่ราคาจะลดลงเป็น 2 เท่า

ยิ่งคนใช้เยอะ...ราคาก็จะลดลง เหล่านี้ต่างจากน้ำมัน คิดว่าจะเป็นอย่างนี้ไหม...มีแพงบ้างถูกบ้าง เพียงแต่จังหวะใครจะปั่นขึ้นมาเมื่อใดเท่านั้น โดยเฉพาะช่วงเวลาเกิดภาวะสงคราม

“เราจ่ายค่าน้ำมันแพงเพราะกลไกตลาด จริงๆแล้วต้นทุนน้ำมันดิบราคา 15 เหรียญต่อบาร์เรลเท่านั้น แต่ปั่นราคากันไปเป็น 140-150 เหรียญได้ หรือจังหวะจะขึ้นทำให้ผู้คนตกใจก็ขึ้นได้แล้ว”

ในแง่การแข่งขันการตลาดธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันมีการแข่งขันมากน้อย ผศ.ประสาท บอกอีกว่า โรงกลั่นเราเมื่อก่อนมีน้อย แต่เพิ่มขึ้นมาจนวันนี้มีปริมาณการกลั่นได้ 100 ล้านลิตรต่อวันแล้ว ทั้งผลิตได้และส่งออก “ราคา” ก็จะเหมือนกันหมด สภาพความเป็นจริงไม่น่าจะมีการแข่งขัน...

“สิ่งที่คนรุ่นใหม่ต้องทำคือเผยแพร่แนวคิดพึ่งพาพลังงานด้วยตนเองให้มากๆ เลิกใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลไปอย่างเด็ดขาด ทำอย่างเป็นขั้นเป็นตอน...รับรองว่าทำได้แน่นอน”.

คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปหน้า 1" เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ