NT โชว์กำไรแต่ยังไม่พ้นวิบาก ประกาศเป้า 5 ปีลดพนักงานเหลือครึ่งหนึ่ง

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

NT โชว์กำไรแต่ยังไม่พ้นวิบาก ประกาศเป้า 5 ปีลดพนักงานเหลือครึ่งหนึ่ง

Date Time: 19 ส.ค. 2566 06:33 น.

Summary

  • NT โชว์กำไรจากการดำเนินงาน 6 เดือนที่ 1,547 ล้านบาท แต่ตั้งงบโครงการลดพนักงานอีกระลอก 2,185 ล้านบาท หลังแผน 3 ปีก่อนหน้าพลาดเป้า “สรรพชัยย์” ประกาศเป้าหมาย 5 ปี

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

NT โชว์กำไรจากการดำเนินงาน 6 เดือนที่ 1,547 ล้านบาท แต่ตั้งงบโครงการลดพนักงานอีกระลอก 2,185 ล้านบาท หลังแผน 3 ปีก่อนหน้าพลาดเป้า “สรรพชัยย์” ประกาศเป้าหมาย 5 ปี (2566–2570) ลดพนักงานลงครึ่งหนึ่ง เหลือ 7,000 คน รับมือนับถอยหลังปี 2568 คลื่นความถี่หมดอายุ กำไรจาก 3 ค่ายมือถือหายวับ

พันเอก สรรพชัยย์ หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT เปิดเผยผลประกอบการและการดำเนินธุรกิจของ NT ในช่วง 6 เดือนแรกของปี (ม.ค.-มิ.ย.2566) ว่า NT มีรายได้รวม 42,447 ล้านบาท รายจ่าย 40,900 ล้านบาท มีกำไรจากผลดำเนินการ 1,547 ล้านบาท แต่เมื่อนำค่าใช้จ่ายภายใต้โครงการปรับลดพนักงานจำนวน 2,185 ล้านบาท มาคำนวณเป็นรายจ่ายร่วมด้วย ผลประกอบการ 6 เดือนแรกจะเปลี่ยนเป็นขาดทุน 638 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ประมาณการณ์ทั้งปีคาดว่าจะทำกำไรได้ในระดับ 1,000-2,000 ล้านบาท หากไม่มีรายจ่ายพิเศษเพิ่มเติม เช่นการไกล่เกลี่ยคดีความต่างๆที่มี

แม้รายได้ในแต่ละธุรกิจของ NT จะปรับลดลงเกือบทั้งหมดเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แต่ผลประกอบการ 6 เดือนแรกสะท้อนการปรับลดค่าใช้จ่ายที่ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะหากไม่นับรวมค่าใช้จ่ายภายใต้โครงการปรับลดพนักงาน บริษัทยังสามารถทำกำไร และดีกว่าแผนที่ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ว่าผลประกอบการปี 2566 จะขาดทุนที่ 4,000 ล้านบาท

พันเอกสรรพชัยย์กล่าวอีกว่า ธุรกิจที่น่าเป็นห่วงยิ่งของ NT คือธุรกิจบรอดแบนด์ ซึ่งขาดทุนเฉลี่ยปีละ 2,000 ล้านบาท เรื่อยมาย้อนหลังไปมากกว่า 10 ปี เนื่องด้วยการแข่งขันที่รุนแรงและการลงทุนที่สูง ขณะเดียวกันในจำนวนพนักงาน NT ทั้งหมดเกือบ 14,000 คน เป็นพนักงานภายใต้ธุรกิจบรอดแบนด์ประมาณครึ่งหนึ่ง นับเป็นหน่วยงานธุรกิจที่ต้นทุนสูงแต่รายได้ลดลงเรื่อยๆ ทิศทางจากนี้คือจะไม่ลงทุนเพิ่ม รวมทั้งจะต้องมองหาโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ส่วนธุรกิจโมบายล์นั้น เฉลี่ยมีรายได้ปีละ 50,000 ล้านบาท แต่แนวโน้มลดลง

เนื่องจากรายได้จากความร่วมมือกับพันธมิตร ทั้งเอไอเอส ทรู และดีแทคลดน้อยลง โดยหลังทรูและดีแทคควบรวมกิจการกัน กระทบรายได้ที่ลดลงทันทีปีละราว 2,000 ล้านบาท ธุรกิจโมบายล์ยังมีปัญหาหนักหนารออยู่หลังใบอนุญาตคลื่นความถี่ 850 MHz, 2100 MHz และ 2300 MHz จะหมดอายุลงในปี 2568 ซึ่งจะทำให้รายได้จากการทำธุรกิจร่วมกับเอไอเอส ทรู และดีแทคหายไป ซึ่งปกติรายได้ตรงส่วนนี้สร้างกำไรให้ NT ปีละราว 10,000 ล้านบาท

“ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนจะถึงปี 2568 NT ต้องพยายามปรับลดค่าใช้จ่ายลงอีกรอบ ถือเป็นภารกิจหลักนับจากนี้ หลังแผนลดจำนวนพนักงานระยะเวลา 3 ปีก่อนหน้านี้พลาดเป้าหมาย เพราะการจะหาธุรกิจทดแทนที่จะทำกำไรได้ในระดับ 10,000 ล้านบาท ไม่ใช่เรื่องง่ายในภาวะเช่นนี้ โดย NT กำลังเตรียมแผนลดค่าใช้จ่ายด้วยการปรับลดจำนวนพนักงานอีกรอบในกรอบ 5 ปี (2566-2570) ลดจำนวนพนักงานลงเหลือ 7,000 คน หรือลดลงครึ่งหนึ่งภายใต้วงเงินค่าใช้จ่ายโครงการปรับลดพนักงานจำนวน 2,185 ล้านบาท ที่ได้ตั้งงบไว้แล้ว”

พันเอกสรรพชัยย์ยังกล่าวถึงช่วง 1 ปีที่ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งตั้งแต่เดือน ก.ค.2565 ที่ผ่านมา นอกจากความพยายามในการลดค่าใช้จ่าย ลดจำนวนพนักงานที่มีมากเกินไป แก้ปัญหาการทำงานร่วมกัน โดยหลังทีโอทีและกสท โทรคมนาคม ควบรวมกิจการเป็น NT เมื่อเดือน ม.ค. ปี 2564 ยังมีระบบการทำงานที่ไม่ลื่นไหล การแลกเปลี่ยน ข้อมูลระหว่างกันยังทำได้ไม่เต็มที่ ซึ่งในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา พยายามวางระบบตรงนี้ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลดีในปีถัดไป

ส่วนการเร่งหารายได้เพิ่มนั้น มองไปถึงการกำหนดทิศทางให้ NT เป็นบริษัทที่จะเน้นเจาะกลุ่มลูกค้าราชการ เช่น การเป็นผู้ให้บริการคลาวด์ภาครัฐ ผู้ให้บริการดาวเทียมและบริหารจัดการดาวเทียมภาครัฐ รวมทั้งการลงทุน 5G บนคลื่นความถี่ 700 MHz และ 2600 MHz ซึ่งจะเจาะกลุ่มลูกค้าที่ไม่แข่งขันตรงกับค่ายมือถือ.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ