ทำไกด์ไลน์แนะราคาขาย กขค.ดัดหลังแพลตฟอร์มเอาเปรียบคู่ค้า

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ทำไกด์ไลน์แนะราคาขาย กขค.ดัดหลังแพลตฟอร์มเอาเปรียบคู่ค้า

Date Time: 17 ส.ค. 2566 06:10 น.

Summary

  • กขค. สั่งลุยทำไกด์ไลน์ธุรกิจดิจิทัลแพลตฟอร์ม และไกด์ไลน์แนะนำราคาขาย กำหนดสิ่งใดทำได้–ไม่ได้ หลังพบพฤติกรรมเอารัดเอาเปรียบคู่ค้าเพิ่มมากขึ้น ทั้งให้ใช้บริษัทขนส่งสินค้าที่กำหนด ระบบการค้นหาร้านค้าไม่เป็นธรรม

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

กขค. สั่งลุยทำไกด์ไลน์ธุรกิจดิจิทัลแพลตฟอร์ม และไกด์ไลน์แนะนำราคาขาย กำหนดสิ่งใดทำได้–ไม่ได้ หลังพบพฤติกรรมเอารัดเอาเปรียบคู่ค้าเพิ่มมากขึ้น ทั้งให้ใช้บริษัทขนส่งสินค้าที่กำหนด ระบบการค้นหาร้านค้าไม่เป็นธรรม ส่วนราคาแนะนำขาย ผู้ผลิตกำหนดได้ แต่ต้องไม่กำหนดเงื่อนไขที่จำกัดสิทธิ์ กีดกัน ขัดขวางคู่ค้าที่เข้าข่ายผิดกฎหมายแข่งขัน

นายสมศักดิ์ เกียรติชัยลักษณ์ รองประธานกรรมการการแข่งขันทางการค้า เปิดเผยว่า คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ได้เห็นชอบให้ศึกษาเพื่อจัดทำร่างแนวทางพิจารณาการปฏิบัติการค้าที่เป็นธรรม หรือไกด์ไลน์ เรื่องการทำธุรกิจดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพื่อรองรับการขยายตัวของการค้าออนไลน์ และป้องกันไม่ให้มีการเอารัดเอาเปรียบผู้ที่ใช้แพลตฟอร์ม เป็นช่องทางการจำหน่ายสินค้า โดยจะกำหนดว่าพฤติกรรมใดทำได้ และทำไม่ได้ หลังจากที่ได้รับการร้องเรียนเข้ามาอย่างต่อเนื่องว่ามีบางแพลตฟอร์มกำหนดเงื่อนไขในการทำธุรกิจที่เป็นการเอารัดเอาเปรียบคู่ค้าอย่างไม่เป็นธรรม โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการยกร่างไกด์ไลน์ และเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และจะสรุปเสนอให้ กขค. พิจารณาเห็นชอบ ต่อไป โดยให้มีผลบังคับใช้กับทุกดิจิทัลแพลตฟอร์ม ทั้งแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ แพลตฟอร์มฟู้ดดีลิเวอรี เสิร์ชเอนจิ้น ฯลฯ

“ก่อนหน้านี้ เคยมีกรณีการร้องเรียนของผู้ค้าที่เข้าไปค้าขายในแพลตฟอร์มออนไลน์ เวลาขายสินค้าได้ สามารถเลือกบริษัทขนส่งสินค้าได้เอง แต่ต่อมาแพลตฟอร์มได้กำหนดเงื่อนไขให้ส่งสินค้าผ่านบริษัทขนส่งที่แพลตฟอร์มกำหนด ซึ่งบางรายก็เป็นบริษัทในเครือของแพลตฟอร์มเอง ทำให้ไม่ได้รับความสะดวก แต่ถ้าไม่ใช้บริการ ก็จะได้รับผลกระทบ เช่น ไม่สามารถขายสินค้าในแพลตฟอร์มนี้ได้”

นอกจากนี้ ยังมีกรณีการค้นหาสินค้าในแพลตฟอร์ม ระบบจะทำการสุ่มร้านค้าขึ้นมาให้ผู้บริโภคได้เลือก แต่กลายเป็นว่าร้านค้าที่ระบบเลือกมาให้นั้น เป็นร้านค้าที่จ่ายเงินให้กับแพลตฟอร์ม หรืออาจมีข้อตกลงพิเศษระหว่างร้านค้ากับเจ้าของแพลตฟอร์ม ส่วนสินค้าของร้านค้ารายอื่น ที่ไม่จ่ายเงิน หรือไม่มีข้อตกลงพิเศษ ระบบค้นหาไม่นำมาแสดงให้ผู้บริโภคเห็น ทำให้ขายสินค้าไม่ได้ ซึ่งถือเป็นการกีดกันร้านค้ารายอื่น และในต่างประเทศเคยมีการร้องเรียนลักษณะเช่นนี้ และเจ้าของแพลตฟอร์มมีความผิดด้วย

ด้านนายรักษเกชา แฉ่ฉาย กรรมการการแข่งขันทางการค้า กล่าวว่า กขค. ยังอยู่ระหว่างจัดทำ ไกด์ไลน์เรื่องการกำหนดราคาแนะนำขาย เพื่อป้องกันไม่ให้มีการทำการค้าที่ไม่เป็นธรรม และเกิดการเอารัดเอาเปรียบในการทำธุรกิจ ซึ่งจะบังคับกับผู้ผลิต ผู้ค้าเป็นการทั่วไป โดยขณะนี้ได้จัดทำร่างและรายละเอียดในเบื้องต้นแล้ว กำลังจะเปิดรับฟังความคิดเห็น ก่อนเสนอให้ กขค.พิจารณาเห็นชอบ คาดว่า จะแล้วเสร็จและบังคับใช้ได้ในเร็วๆนี้

“การกำหนดราคาแนะนำขายจากผู้ผลิตสามารถทำได้ แต่ต้องไม่กำหนดเงื่อนไขอื่นๆให้ผู้ค้าต้องปฏิบัติตาม หรือกีดกัน ขัดขวาง จำกัดสิทธิ์คู่ค้า เช่น กำหนดราคาแนะนำขายไม่เกิน 10 บาท ผู้ค้าจะขาย 10 บาท หรือ 9 บาทก็ได้ แต่ถ้ากำหนดราคาแนะนำ 10 บาท และผู้ผลิตมีพฤติกรรมไม่ส่งสินค้าให้ ถ้าคู่ค้าเอาไปขาย 9 บาท ก็จะถือว่าเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 มาตรา 57 ที่เป็นการกีดกัน จำกัด ขัดขวางการทำธุรกิจของผู้อื่นอย่างไม่เป็นธรรม หรือกำหนดเงื่อนไขทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งจะมีโทษปรับทางปกครองในอัตราไม่เกิน 10% ของ รายได้ที่กระทำผิด”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พฤติกรรมการทำธุรกิจที่มักเกิดปัญหาจนต้องจัดทำไกด์ไลน์ราคาแนะนำขาย เช่น มีการกำหนดราคาแนะนำขายสินค้าเกษตรบางชนิด และกำหนดให้ผู้ที่เป็นสมาชิกต้องขายในราคาแนะนำตามที่กำหนด หากไม่ขาย ก็จะมีปัญหา หรือถูกกดดัน หรือกรณีค่ายรถยนต์บางค่าย กำหนดให้ดีลเลอร์ต้องขายรถในราคาแนะนำ ไม่สามารถปรับลดราคาได้ แม้ต้องการระบายสต๊อกรถรุ่นเก่าออกไป หากไม่ทำตามก็จะไม่ส่งรถยนต์ให้ขาย เป็นต้น.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ