เร่งช่วย "ลูกหนี้เรื้อรัง" พ้นวงจรหนี้ ให้สินเชื่ออย่างเป็นธรรม

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

เร่งช่วย "ลูกหนี้เรื้อรัง" พ้นวงจรหนี้ ให้สินเชื่ออย่างเป็นธรรม

Date Time: 27 ก.ค. 2566 06:40 น.

Summary

  • มาตรการจะบังคับใช้ก่อน คือ การให้สินเชื่ออย่าง รับผิดชอบและเป็นธรรม (responsible lending) และการดูแลหนี้เรื้อรัง (persistent debt) ซึ่งทุกฝ่ายในครั้งนี้มีความตั้งใจจริงดำเนินการให้เกิดขึ้น

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงินธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในการแถลงข่าวความร่วมมือมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน เพื่อยกระดับมาตรฐานธุรกิจการให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ตลอดวงจรหนี้ ว่า มาตรการจะบังคับใช้ก่อน คือ การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (responsible lending) และการดูแลหนี้เรื้อรัง (persistent debt) ซึ่งทุกฝ่ายในครั้งนี้มีความตั้งใจจริงดำเนินการให้เกิดขึ้น

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ธนาคารพาณิชย์ตระหนักถึงความสำคัญของการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย โดยอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ 3 ปีของสมาคมธนาคารไทย ตั้งแต่ปี 2565 และได้ผลักดันมาตรการต่างๆมาตั้งแต่ช่วงโควิด-19 โดย ณ สิ้นเดือน เม.ย. 2566 มีลูกหนี้ที่อยู่ในความช่วยเหลือ 2 ล้านบัญชี ยอดหนี้ 1.88 ล้านล้านบาท จากยอดหนี้ที่เคยสูงสุด ณ สิ้นเดือน ก.ค.2563 จำนวน 6.12 ล้านบัญชี ยอดหนี้ 4.2 ล้านล้านบาท โดยพร้อมให้ความร่วมมือและสนับสนุนมาตรการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนตามแนว responsible lending เพื่อไม่ทำให้ใครต้องตกไปอยู่นอกระบบจากมาตรการที่นำมาใช้ และทำให้หนี้ครัวเรือนทั้งระบบดีขึ้น

ด้านนายวิทัย รัตนากร ประธานสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ กล่าวว่า กลุ่มลูกค้าของเราส่วนใหญ่เป็นกลุ่มความเปราะบาง เช่น กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าและเกษตรกรรายได้น้อยและมีความไม่แน่นอนสูง มีกันชนทางการเงินจำกัด และกลุ่มข้าราชการที่แม้มีรายได้มั่นคงแต่น้อย สถาบันการเงินของรัฐจึงได้ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างเต็มที่ และพร้อมสนับสนุนมาตรการหนี้ครัวเรือน โดยเฉพาะการแก้ปัญหาหนี้เรื้อรังที่ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อที่ผ่อนดอกมากกว่าต้น โดยลดดอกเบี้ยเหลือไม่เกิน 15% ต่อปี จะช่วยให้ลูกหนี้จ่ายเงินต้นได้มากขึ้น มีโอกาสปิดจบหนี้ได้

นายอธิป ศิลป์พจีการ รองประธานชมรมสินเชื่อส่วนบุคคล กล่าวว่า ลูกค้าส่วนใหญ่ของผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-bank) เป็นกลุ่มที่มีรายได้น้อยและเปราะบางกว่าธนาคารพาณิชย์ เช่น พนักงานบริษัทหรือโรงงานที่มีเงินเดือนประจำค่อนข้างต่ำ หรือพ่อค้าแม่ค้าขายของที่มีหลักฐานทางการเงินจำกัด โดยที่ผ่านมา Non-bank ได้ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างเต็มที่ แต่ด้วยลักษณะเฉพาะของลูกหนี้ที่มีความสามารถผ่อนชำระต่อเดือนจำกัด จึงใช้สินเชื่อส่วนบุคคลประเภทหมุนเวียน และเป็นหนี้เรื้อรังค่อนข้างสูง ชมรมสินเชื่อส่วนบุคคล จึงเห็นถึงความจำเป็นและพร้อมเสนอทางเลือกให้ปิดจบหนี้ได้ โดยเริ่มจากลูกค้าที่มีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือน.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ