ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ประชุมร่วมกับคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.), คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) เพื่อติดตามและประเมินเสถียรภาพระบบการเงินไทย โดยพบว่า ระบบการเงินไทยปัจจุบันยังมีเสถียรภาพ แต่เผชิญกับความเสี่ยงที่อาจสูงขึ้นในระยะต่อไปจาก 2 เรื่อง คือ 1.ความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนและเอสเอ็มอี โดยเฉพาะครัวเรือนที่มีรายได้น้อยและเอสเอ็มอีในภาคการผลิตและการค้าที่อาจได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และ 2.ความสามารถในการระดมทุนของภาคธุรกิจผ่านตลาดตราสารหนี้ จากความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้ระดมทุนบางรายที่อาจสูงขึ้น
ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภค ภาคเอกชนส่งผลให้รายได้และฐานะการเงิน โดยรวมของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ มีแนวโน้มปรับดีขึ้น ซึ่งครัวเรือนบางส่วนยังเปราะบางจากรายได้ที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ และค่าครองชีพที่สูงขึ้น รวมถึงต้องติดตามฐานะการเงินของเอสเอ็มอีในกลุ่มที่ฟื้นตัวช้าจากโควิด-19 และกลุ่มที่อาจได้รับผลกระทบจากการส่งออกที่ชะลอลง ซึ่งที่ประชุมประเมินว่า แม้ความเปราะบางของภาคครัวเรือนและเอสเอ็มอี อาจส่งผลให้คุณภาพสินเชื่อบางกลุ่มมีแนวโน้มด้อยลง แต่สถาบันการเงิน สามารถปรับโครงสร้างหนี้เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ได้ และจะไม่นำไปสู่หนี้เสียที่เพิ่มสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด (NPL cliff)
ขณะที่ตลาดตราสารหนี้มีความเสี่ยงสูงขึ้นจากการผิดนัดชำระหนี้ ที่มีมูลค่าสูงกว่าปีก่อนและการเพิ่มขึ้นของจำนวนบริษัทที่ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือและแนวโน้มอันดับเครดิต (credit rating and outlook) ในระยะหลัง จากปัจจัยเสี่ยงเฉพาะราย ขณะที่ตลาดทุนมีความผันผวนเพิ่มขึ้น จากความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศและปัญหาธรรมาภิบาลของบริษัทจดทะเบียน ส่งผลให้นักลงทุนระมัดระวังในการลงทุน.