นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) เปิดเผยว่า แนวโน้มการจ้างงานในครึ่งปีหลัง ยังอยู่ในภาวะทรงตัวตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยโดยเฉพาะเศรษฐกิจคู่ค้าหลักๆ อาทิ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป (อียู) หรือแม้แต่จีนที่เศรษฐกิจ ก็ไม่ได้เติบโตอย่างที่คาดหวังไว้ จึงส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกปีนี้ ที่คาดว่าติดลบ 2-2.5% ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวแม้ฟื้นตัว แต่ภาพรวมมูลค่าการท่องเที่ยวจะโตได้เพียง 3 ใน 4 ส่วนจากที่ คาดไว้ว่าจะมีมูลค่ารวมที่ 3.2 ล้านล้านบาท ทำให้ผู้ประกอบการยังคงประคองการรักษาระดับการจ้างงานเดิมไว้ให้มากกว่าการจ้างงานใหม่
ขณะที่ปัจจุบันภาคการผลิตเพื่อการส่งออก พบว่ามีคำสั่งซื้อลดลงทำให้อัตราการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรม (CPU) ลดต่ำลง มีบางกิจการเริ่มยกเลิกทำงานล่วงเวลา และลดแรงงานที่ไม่จำเป็นบ้างแล้ว เนื่องจากผู้ประกอบการพยายามประคับประคองแรงงานให้มีงานทำ โดยมีการผลิตเพื่อสต๊อกเอาไว้ทำให้คลังสินค้าเริ่มเต็มโกดัง ทำให้จากนี้ไป ต้องดูแนวโน้มช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้อย่างใกล้ชิด ขณะที่ภาคการผลิตที่เน้นตลาดในประเทศก็เผชิญกับแรงซื้อที่ถดถอย จากค่าครองชีพประชาชนที่เพิ่มขึ้น
“นักศึกษาจบใหม่ปีการศึกษา 2565 ประมาณ 500,000 คน อาจหางานทำได้ลำบาก เพราะนักศึกษาที่จบการศึกษาปีที่ผ่านมา ยังว่างงานอีก 200,000 คน และยังไม่ได้รวมสะสมจากปีก่อนๆ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากวุฒิการศึกษาไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ขณะที่ความต้องการแรงงานต่างด้าวยังมีการเติบโต แต่เริ่มชะลอตัวเช่นกัน เพราะแรงงานเหล่านี้เป็นประเภทไร้ทักษะ ที่จะเข้ามาทดแทนแรงงานไทย ที่ไม่ทำงานประเภท 3D ได้แก่ งานหนัก, งานสกปรก, งานอันตราย”.