กกร.ขอลดค่าไฟเหลือ 4.25 บาท แจงสารพัดปัจจัยเอื้อให้ต้นทุนค่าไฟลดลงแล้ว

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

กกร.ขอลดค่าไฟเหลือ 4.25 บาท แจงสารพัดปัจจัยเอื้อให้ต้นทุนค่าไฟลดลงแล้ว

Date Time: 15 ก.ค. 2566 05:45 น.

Summary

  • กกร.ร่อนหนังสือขอลดค่าไฟเหลือ 4.25 บาท ถึง “บิ๊กตู่” แล้ว ลุ้นลดราคาบรรเทาทุกข์ประชาชน-ผู้ประกอบการ ชี้สารพัดปัจจัยเอื้อค่าไฟลดหมดแล้ว

Latest

ที่ยืนของ “ธุรกิจไทย” แคบลงทุกที ไทยขาดดุล “จีน” สูงขึ้นเรื่อยๆ นำเข้าสินค้า ผ่าน Shopee - Lazada

กกร.ร่อนหนังสือขอลดค่าไฟเหลือ 4.25 บาท ถึง “บิ๊กตู่” แล้ว ลุ้นลดราคาบรรเทาทุกข์ประชาชน-ผู้ประกอบการ ชี้สารพัดปัจจัยเอื้อค่าไฟลดหมดแล้ว

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้ส่งหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถึงแนวทางการปรับค่าไฟฟ้าผันแปร อัตโนมัติ (เอฟที) ที่เรียกเก็บค่าไฟฟ้า งวดที่ 3 รอบเดือน ก.ย.-ธ.ค.นี้แล้ว เนื่องจากกังวลว่าภาระค่าไฟฟ้าของประชาชนและผู้ประกอบการที่ยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน และขีดความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการ โดย กกร.เห็นว่า ค่าไฟฟ้างวดใหม่ ไม่ควรเกินหน่วยละ 4.25 บาท จากงวดปัจจุบัน (พ.ค.-ส.ค.) อยู่ที่หน่วยละ 4.70 บาท

ทั้งนี้ กกร.ได้นำข้อเสนอแนวทางปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ งวดที่ 3 รอบเดือน ก.ย.-ธ.ค. โดยขอให้ขยายเวลาการคืนหนี้ ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จาก 5 งวด เป็น 6 งวด เพื่อให้ค่าเอฟทีลดลงอีกหน่วยละ 10 สตางค์ ซึ่ง กฟผ.จะได้รับเงินคืนครบภายในเดือน ส.ค.68, ขอให้บูรณาการจัดหาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) โดยมอบหมายผู้นำเข้าหลักเพียงรายเดียวในการจัดหา เพื่อสกัดดีมานด์เทียมหรือความต้องการเทียมจากผู้ส่งสินค้าหลายรายที่เข้ามาจัดหาในตลาด สำหรับนำมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้างวดที่ 3 เพื่อให้ได้ราคาที่เหมาะสมตามกลไกตลาดและไม่ให้ประเทศเสียเปรียบ โดยจัดหาแอลเอ็นจีล่วงหน้าราคาเฉลี่ยที่ 14-16 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อล้านบีทียู หากเข้าสู่ฤดูหนาวแล้วราคาแอลเอ็นจีจะสูงขึ้น “กรณีที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่เปิดประชาพิจารณ์ค่าเอฟที 3 กรณี อัตรา 6.28, 4.70 และ 4.45 บาท ในวันที่ 7-21 ก.ค.66 ก่อนที่จะเคาะราคาสุดท้ายอีกครั้ง หากพิจารณาจากปัจจัยที่นำมาคำนวณค่าเอฟทีแล้ว พบว่า มีหลายประเด็นสนับสนุนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับลดค่าเอฟทีงวดใหม่ได้ เช่น ปริมาณก๊าซจากอ่าวไทยที่เพิ่มขึ้นจะช่วยลดปริมาณการนำเข้าได้”

นอกจากนี้ปริมาณนำเข้าแอลเอ็นจีลดลงเหลือ 41% จากเดิมนำเข้าแอลเอ็นจี เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าที่ 47% และราคาแอลเอ็นจี สปอต ที่นำเข้ามาผลิตไฟฟ้าลดลง 30% จากงวดที่ 2 เดือน พ.ค.-ส.ค. ที่ราคาราว 20 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อล้านบีทียู มาอยู่ที่ 14 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อล้านบีทียู ขณะที่ราคาพลังงานโลกมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง, ภาระหนี้ของ กฟผ. ทั้งงวดที่ 1-2 ลดลงเร็วกว่าแผน ด้วยต้นทุนจริงของแอลเอ็นจีที่ต่ำกว่าที่เรียกเก็บค่าเอฟทีทั้ง 2 งวดที่ผ่านมา แต่เงินบาทที่อ่อนค่ามา 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ยังเป็นปัจจัยกดดันต้นทุนค่าไฟฟ้าช่วงนี้ แต่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าเป็นการอ่อนค่าระยะสั้นและมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นภายในปลายปีนี้

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมานายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงาน กกพ. ในฐานะโฆษก กกพ.เปิดเผยว่า ในการประชุมเมื่อวันที่ 5 ก.ค.66 มีมติรับทราบภาระต้นทุนค่าเอฟทีประจำรอบเดือน ม.ค.-เม.ย.66 และเห็นชอบผลการคำนวณประมาณการค่าเอฟทีสำหรับงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.66 พร้อมให้สำนักงาน กกพ. นำค่าเอฟทีประมาณการและแนวทางการจ่ายภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. ไปรับฟังความคิดเห็นในกรณีต่างๆ ดังนี้

กรณีที่ 1 (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างทั้งหมด) ค่าเอฟทีที่เรียกเก็บงวด ก.ย.-ธ.ค.66 จำนวน 249.81 สตางค์ต่อหน่วย แบ่งเป็นเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุน ก.ย.-ธ.ค.66 จำนวน 28.58 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อชำระเงินที่ กฟผ. กู้มาเพื่อตรึงค่าไฟฟ้าตั้งแต่ ก.ย.64-เม.ย.66 จำนวน 135,297 ล้านบาท เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วยทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับขึ้นเป็น 6.28 บาทต่อหน่วย ตามรายงานการคำนวณตามสูตรเอฟที

กรณีที่ 2 (ตรึงค่าเอฟทีเท่ากับงวด พ.ค.-ส.ค.66) ค่าเอฟทีเรียกเก็บงวด ก.ย.-ธ.ค.66 จำนวน 91.19 สตางค์ต่อหน่วย แบ่งเป็นเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน ก.ย.-ธ.ค.66 จำนวน 28.58 สตางค์ต่อหน่วย และทยอยชำระเงินที่ กฟผ. กู้มาเพื่อตรึงค่าไฟฟ้าจำนวน 38,291 ล้านบาท เพื่อลดภาระดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มสูงขึ้น คาดว่า สิ้นเดือน ธ.ค.66 มีภาระหนี้คงเหลือที่ต้องชำระคืนให้ กฟผ. 97,006 ล้านบาท เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) คงเดิมที่ 4.70 บาทต่อหน่วย

กรณีที่ 3 (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้าง 5 งวด) ค่าเอฟทีเรียกเก็บงวด ก.ย.-ธ.ค.66 จำนวน 66.89 สตางค์ต่อหน่วย แบ่งเป็นเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุน ก.ย.-ธ.ค.66 จำนวน 28.58 สตางค์ต่อหน่วย และทยอยชำระเงินที่ กฟผ. กู้มาเพื่อตรึงค่าไฟฟ้า โดยแบ่งเป็น 5 งวด งวดละ 23,428 ล้านบาท คาดว่า ณ สิ้น ธ.ค.66 มีภาระหนี้คงเหลือที่ต้องชำระคืนให้ กฟผ. 111,869 ล้านบาท ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับลงเป็น 4.45 บาทต่อหน่วย ตามข้อเสนอของ กฟผ.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ