ปี 66 เป็นปีทองของเกษตรกรปลูกผลไม้ ราคาดีสูงที่สุด ส่งออกเติบโต

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ปี 66 เป็นปีทองของเกษตรกรปลูกผลไม้ ราคาดีสูงที่สุด ส่งออกเติบโต

Date Time: 26 มิ.ย. 2566 11:17 น.

Video

3 มาตรการใหม่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คุมหุ้นร้อนผิดปกติ | Money Issue

Summary

  • จุรินทร์ ชี้ปี 66 เป็นปีทองเกษตรกรปลูกผลไม้ ราคาดีที่สุดตั้งแต่มีประเทศไทยมา ส่งออกเติบโต โดยเฉพาะทุเรียนส่งออกนอกถึง 81%

Latest


จุรินทร์ ชี้ปี 66 เป็นปีทองเกษตรกรปลูกผลไม้ ราคาดีที่สุดตั้งแต่มีประเทศไทยมา ส่งออกเติบโต โดยเฉพาะทุเรียนส่งออกนอกถึง 81%

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ปี 66 นี้ถือว่าเป็นปีทองของเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ ซึ่งผลไม้ปีนี้ราคาดีที่สุดปีหนึ่ง ตั้งแต่มีประเทศไทยมา ทั้งภาคตะวันออกและภาคอื่นๆ รวมทั้งภาคใต้ที่ผลผลิตเริ่มออก ตั้งแต่เดือน มิ.ย. จนหมดฤดู ปีนี้ที่ราคาดีมากเพราะเราสามารถควบคุมกำกับคุณภาพผลไม้ให้ได้มาตรฐานเป็นอย่างดี

โดยเฉพาะที่ภาคตะวันออก เช่น ทุเรียน ปีนี้เกือบเรียกได้ว่าไม่มีทุเรียนอ่อน เกษตรกรและทุกฝ่ายช่วยกันและมาตรการเชิงรุกที่กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับส่วนราชการต่างๆ กำหนด 22 มาตรการได้ผลดีอย่างยิ่ง ทั้งกำกับการผลิตผลไม้ มาตรการบังคับใช้กฎหมาย ล้วนมีส่วนสำคัญให้ตลาดในประเทศและต่างประเทศคล่องตัว ราคาดีขึ้น

สำหรับภาพรวมผลไม้ปีนี้ผลผลิตรวม 6.75 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 3% ตลาดสำคัญ คือ ตลาดในประเทศ 40% และตลาดส่งออก 60% ผลไม้ที่ครองตลาดส่งออกต่างประเทศสูงสุดคือทุเรียนถึง 81% รองลงมาคือ ลำไย สับปะรด และมะม่วง

ตลาดส่งออกสำคัญ 4 เดือนแรกปีนี้ ตลาดใหญ่ที่สุด 1. ตลาดจีนครองตลาดส่งออกถึง 77% 2. สหรัฐอเมริกา 7% 3. ฮ่องกง 1.7% 4. มาเลเซีย 1.4% และ 5. ญี่ปุ่น 1%

ปริมาณการส่งออกผลไม้ปีนี้ 4 เดือนแรก ส่งออกเพิ่มขึ้น 66% มูลค่า 1.03 แสนล้านบาท ผลไม้ส่งออกสำคัญ ทุเรียนส่งออกเพิ่มขึ้น 165% มังคุดเพิ่มขึ้น 1,057% ลำไย เพิ่มขึ้น 32% มาตรการสำคัญที่ส่งให้ราคาดีขึ้น เช่น มาตรการตลาดในประเทศ เพิ่มการบริโภคเกษตรกรระบายผลไม้รวดเร็ว

ด้วยการใช้ อมก๋อยโมเดลของกรมการค้าภายใน หรือที่เรียกว่า เกษตรพันธสัญญา ทำการตลาดซื้อขายเซ็นสัญญาล่วงหน้า ตั้งเป้าปี 66 ทั้งปีจะทำให้ได้ 100,000 ตัน ปรากฏว่า 4 เดือนแรก ทำไปแล้ว 240,000 ตัน ทำให้ราคาดีเป็นพิเศษเพราะกระทรวงพาณิชย์ กรมการค้าภายใน ร่วมกับทุกฝ่ายเห็นผลเป็นรูปธรรม และตลาดต่างประเทศ

โดยทูตพาณิชย์ทั่วโลกที่มีตลาดผลไม้เพิ่มกิจกรรมส่งเสริมการขายในห้างสรรพสินค้า พื้นที่ต่างๆ จะทำให้ครบ 40 กิจกรรมโดยเร็วที่สุด ตลาดใหญ่ของเราคือ ตลาดจีน สัดส่วนถึง 77% เราแก้ไขปัญหาระบบการขนส่งโลจิสติกส์ได้สำเร็จเป็นรูปธรรมทั้งทางบกและทางเรือ ทางบก

ทั้งนี้ ผมได้มอบหมายให้ท่านปลัดกระทรวงพาณิชย์เจรจานายด่านจีน เวียดนาม ที่ด่านโหยวอี้กวน และที่เชียงของ ลาว ด่านโม่ฮาน ร่วมมือกัน ทำให้การส่งออกผ่าน 2 ด่านนี้ ที่เป็นด่านหลักทางบกคลี่คลายไม่มีรถติดขัด ผู้ส่งออกยืนยันว่าปีนี้ไม่มีการจราจรติดขัดเลย ต่อไปถ้าเกิดปัญหาปลัดกระทรวงพาณิชย์สามารถยกหูสายด่วนคุยกับนายด่านทั้ง 2 ด่านได้ทันที

ส่วนทางเรือแก้ปัญหาร่วมกับเอกชน ในที่ประชุม กรอ.พาณิชย์ ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาจำนวนตู้คอนเทนเนอร์พอใช้ เราปรับมาตรการให้เรือใหญ่ขนตู้จำนวนมากเข้ามาเทียบท่าที่แหลมฉบังทำให้ตู้คอนเทนเนอร์ที่ใช้ส่งออกคล่องตัว และข้อสั่งการของตนขอให้ปฏิบัติคือ

1. ล้งต้องไม่หยุดรับซื้อไม่กดราคาให้ซื้อผลผลิตคุณภาพจากเกษตรกรตามราคาตลาด จะช่วยให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน

2. กระทรวงเกษตรฯ ต้องเข้าไปกำกับดูแลการผลิตผลไม้ของเกษตรกรให้ได้มาตรฐานคุณภาพ เช่น ไม่มีทุเรียนอ่อน ถ้าทำได้ทั้งหมดตนยืนยันว่าปีนี้ราคาผลไม้ภาคใต้จะดีที่สุดปีหนึ่งอีกเช่นเดียวกัน

สำหรับราคาปีนี้ผลไม้ภาคตะวันออกหมดฤดูกาลแล้ว โดยทุเรียนเกรดส่งออกปีที่แล้ว 143 บาทต่อกิโลกรัม ปีนี้ 172 บาทต่อกิโลกรัม ราคาสูงขึ้น 20-41% เกรดคละปีที่แล้ว 78 บาท/กก. ปีนี้ 111 บาท/กก. ราคาเพิ่มขึ้น 42% มังคุดเกรดส่งออก ราคาเพิ่มขึ้น 82-102%

เงาะโรงเรียน ราคาเพิ่มขึ้น 100% จาก 18 บาท/กก. ปีนี้ 36 บาท/กก. และภาคใต้ ทุเรียนเกรดส่งออกราคาเพิ่มขึ้น 7-8% ปีที่แล้ว 110 บาท/กก. ปีนี้ 120-130 บาท/กก. เกรดตกไซส์ ราคาเพิ่มขึ้น 29% ปีที่แล้ว 64 บาท/กก. ปีนี้ 80-85 บาท/กก.

มังคุดเกรดส่งออกปีที่แล้ว 35-37 บาท/กก. ปีนี้ 53-108 บาท/กก. ราคาเพิ่มขึ้น 90-173% เกรดคละ ปีที่แล้ว 25 บาท/กก. ปีนี้ 33-59 บาท/กก. ราคาเพิ่มขึ้น 84%

ภาคเหนือ มะม่วงน้ำดอกไม้เกรดส่งออก ปีที่แล้ว 45 บาท/กก. ปีนี้ 50 บาท/กก. ราคาเพิ่มขึ้น 11% และเกรดคละ ปีที่แล้ว 20 บาท/กก. ปีนี้ 30 บาท/กก. ราคาเพิ่มขึ้น 50% มะม่วงมัน เกรดคละปีที่แล้ว 6 บาท/กก. ปีนี้ 10 บาท/กก. เพิ่มขึ้น 67%

"ปีนี้ถือว่าเป็นปีทองสำคัญของเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ไทยและขอให้ทุกฝ่ายควบคุมดูแลคุณภาพให้เคร่งครัด ส่วนราชการต่างๆ ร่วมมือกับภาคเอกชนเกษตรกรเร่งรัดการทำตลาดทั้งในประเทศและตลาดต่างประเทศให้ได้ตามเป้าหมายมาตรการที่กำหนด 22 มาตรการเชิงรุกที่มีมติ ทุกอย่างจะดีสำหรับทุกฝ่าย"


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์