นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจครึ่งปีหลังของประเทศไทยในภาพรวมยังคงทรงตัว ตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยซึ่งมีผลต่อการส่งออกของไทยสะท้อนจากมูลค่าการส่งออกเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ติดลบ 7.6% ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 และยังมีตัวแปรจากความเสี่ยงที่จะเป็นปัจจัยเพิ่มเข้ามา จากการที่ประเทศไทย อาจจัดตั้งรัฐบาลได้ล่าช้า, ภัยแล้งที่จะกดดันต่อผลผลิตภาคเกษตรของไทยในแง่ปริมาณที่ลดลง ที่จะกระทบต่อราคาสินค้าเกษตรที่ประชาชนบริโภคโดยตรงและวัตถุดิบอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปให้มีต้นทุนเพิ่ม
“เศรษฐกิจโลกปีนี้เติบโตไม่เกิน 2.1% จากปีก่อน แม้แต่เศรษฐกิจจีนก็ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดไว้ทำให้ความต้องการสินค้าจากทั่วโลกลดลง กระทบต่อส่งออกของไทย ในปีนี้จะชะลอตัวลง คาดว่าการส่งออกทั้งปีในรูปของเงินเหรียญสหรัฐฯ อาจติดลบ 2-3% จากปีก่อน”
สำหรับการส่งออกปีนี้ ไม่ใช่กลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่การท่องเที่ยวมีส่วนสำคัญหลังจากในช่วงที่ผ่านมาโดยเฉพาะโควิด-19 ที่ทำให้ท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์ที่ดับสนิทแต่เริ่มมีการทยอยฟื้นตัว คาดว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา 30-35 ล้านคน ทำให้อุตสาหกรรมต่อเนื่องจากการท่องเที่ยว กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง ขณะที่ตลาดในประเทศพบว่ากำลังซื้อของคนไทยยังคงต่ำจากภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทำให้หนี้ภาคครัวเรือนอยู่ระดับ 15 ล้านล้านบาท เป็นอัตราที่สูงและบั่นทอนเศรษฐกิจ ในระยะข้างหน้าสิ่งที่เป็นปัจจัยแทรกซ้อนคือการจัดตั้งรัฐบาล ที่ยังไม่มีทิศทางชัดเจนว่าเป็นไปตามไทม์ไลน์หรือไม่ เพราะหากช้าออกไปเท่าใดก็กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทั้งไทยและต่างชาติ.