เอกชนอ้างซมพิษ “โควิด-ยูเครน” ครม.จัดให้แก้สัญญาร่วมทุนสนามบินอู่ตะเภา

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

เอกชนอ้างซมพิษ “โควิด-ยูเครน” ครม.จัดให้แก้สัญญาร่วมทุนสนามบินอู่ตะเภา

Date Time: 7 มิ.ย. 2566 06:57 น.

Summary

  • ครม.ไฟเขียวแก้สัญญาร่วมลงทุนสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก หลังบริษัทอู่ตะเภาฯเจอผลกระทบจากปัญหาโควิด และสงครามรัสเซีย-ยูเครน โดยให้เริ่มนับสัญญาปีที่ 1 ต่อเมื่อผู้โดยสารแตะ 5.6 ล้านคน ยืนยัน เหตุรัฐช่วยเอื้อทุกทางเพื่อให้โครงการเกิดได้

Latest

ที่ยืนของ “ธุรกิจไทย” แคบลงทุกที ไทยขาดดุล “จีน” สูงขึ้นเรื่อยๆ นำเข้าสินค้า ผ่าน Shopee - Lazada

ครม.ไฟเขียวแก้สัญญาร่วมลงทุนสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก หลังบริษัทอู่ตะเภาฯเจอผลกระทบจากปัญหาโควิด และสงครามรัสเซีย-ยูเครน โดยให้เริ่มนับสัญญาปีที่ 1 ต่อเมื่อผู้โดยสารแตะ 5.6 ล้านคน ยืนยัน เหตุรัฐช่วยเอื้อทุกทางเพื่อให้โครงการเกิดได้

นายอนุชา บูรพชัยศรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้มีการรับทราบรายงานผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก (กพอ.) ซึ่งเป็นโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนในรูปแบบ PPP Net Cost กรอบวงเงิน 204,240 ล้านบาท โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เป็นผู้ลงนามในสัญญาร่วมทุนโครงการร่วมกับ บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่นจำกัด

ทั้งนี้ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำว่า การเยียวยาข้างต้นรัฐยังได้รับชำระ ส่วนที่เป็นรายได้ของรัฐ ตามจำนวนเดิมพร้อมค่าเสียโอกาส ขณะเดียวกัน ยังเดินหน้าผลักดันโครงการให้เป็นไปตามเป้าหมายได้ โดยภายใต้สัญญาดังกล่าว ได้กำหนดให้เหตุสุดวิสัยหรือกรณีเกิดความผันผวนทางเศรษฐกิจ เช่น กรณีเกิดโรคระบาดร้ายแรงหรือโรคติดต่ออันตราย ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ให้คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายปรึกษาหารือถึงวิธีการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วยความเหมาะสมและเป็นธรรมได้ ซึ่งในกรณีนี้บริษัทอู่ตะเภาฯได้ขอใช้สิทธิดังกล่าว ตามข้อ 13 ของสัญญาร่วมลงทุน เนื่องจากในช่วงปี 2564-2565 มีวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 และความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ทำให้ประมาณการผู้โดยสารลดอย่างมีนัยสำคัญ จนทำให้ผู้โดยสารใช้บริการไม่เป็นไปตามเป้าที่ 60 ล้านคนต่อปีเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาโครงการร่วมลงทุนเป็นเวลา 50 ปี

โดยแนวทางการแก้ไขปัญหาและสามารถหาข้อสรุปร่วมกัน ดังนี้ 1.เห็นควรให้เอกชนเพิ่มการลงทุนในการพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออก (Eastern Airport City) จากเดิม 4,500 ล้านบาทเป็นประมาณ 40,000 ล้านบาท และเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาโครงการ กรรมสิทธิ์ในงานพัฒนาเมืองการบินฯ ทั้งหมดจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐ โดย สกพอ.จัดให้มีมาตรการสนับสนุนทั้งด้านภาษีและไม่ใช่ภาษี ภายในระยะเวลา 5ปี นับจากวันที่เริ่มนับระยะเวลาโครงการและจะมีการทบทวนพัฒนามาตรการสนับสนุนดังกล่าวทุกๆ 10 ปี 2.สกพอ.จะพยายามแก้ไขปัญหาทางการเงินที่เกิดขึ้น โดยสนับสนุนการจัดหาแหล่งเงินกู้ของเอกชนในการดำเนินโครงการ ให้ได้เงื่อนไขที่ดีกว่าตลาดของสถาบันทางการเงินเอกชนทั่วไป และใกล้เคียงกันกับโครงการของรัฐที่มีความเสี่ยงในลักษณะเดียวกันจนกว่า ผลกระทบจะสิ้นสุดลง ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มความน่าเชื่อถือของโครงการ

3.คู่สัญญาตกลงปรับระยะการพัฒนางานหลักของสนามบินอู่ตะเภา เช่น อาคารผู้โดยสารหลังใหม่ ศูนย์การขนส่งภาคพื้น การให้บริการภาคพื้นดิน เป็นต้น จากเดิมกำหนดไว้ 4 ระยะ เปลี่ยนเป็น 6 ระยะ เพื่อให้สอดคล้องกับประมาณการ ผู้โดยสารเปลี่ยนแปลงไป โดยในระยะแรกจะพัฒนาให้งานหลัก มีขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารไม่น้อยกว่า 12 ล้านคน/ปี และจะลงทุนในระยะถัดไป (ระยะที่ 2-6) เมื่อมีปริมาณผู้โดยสารถึง 80% ของขีดความสามารถของระยะปัจจุบัน โดยโครงการยังกำหนดเป้าหมายให้สนามบินอู่ตะเภารองรับ ผู้โดยสารในปีสุดท้ายได้ 60 ล้านคน/ปีเท่าเดิม 4.มีการปรับหลักเกณฑ์การจัดสรรรายได้ของเอกชนคู่สัญญา เพื่อให้ไม่อยู่ในสถานะผิดเงื่อนไขสัญญาเงินกู้และไม่อยู่ในสถานะที่ผู้ให้กู้เงินเริ่มใช้สิทธิ์เร่งรัดชำระเงินกู้

5.หากมีการก่อสร้างโครงการแล้วเสร็จ แต่ปริมาณผู้โดยสารมีไม่ถึง 5.6 ล้านคน/ปี ให้เลื่อนการเริ่มนับระยะเวลาปีที่ 1 ในปีที่มีปริมาณ ผู้โดยสารต่อปี จำนวน 5.6 ล้านคน (แต่ให้นับจาก 47 ปี เดิม 50 ปี) โดยช่วงเวลาที่ยังไม่มีการเริ่มนับปีที่ 1 นั้น ให้เอกชนคู่สัญญาชำระค่าตอบแทนรัฐ โดยชำระค่าเช่าที่ดินและสิ่งก่อสร้างแก่รัฐ 100 ล้านบาท/ปี จากเดิม 820 ล้านบาท/ปีในช่วง 3 ปีแรก ของการให้บริการและการบำรุงรักษาโครงการ และเพิ่มขึ้นทุกๆ 3 ปี จนสิ้นสุดระยะเวลาโครงการ ให้ชำระรายได้ของรัฐ 100 ล้านบาท/ปี จากเดิม 1,300 ล้านบาทในปีที่ 1 และเพิ่มขึ้นในปีถัดไปทุกปีจนสิ้นสุดระยะเวลาโครงการ และชำระรายได้ของรัฐแก่ สกพอ. เป็นจำนวนเท่ากับกระแสเงินสดคงเหลือจากการดำเนินโครงการ ภายหลังการชำระดอกเบี้ยพร้อมเงินต้นที่จำเป็นต้องชำระตามสัญญาเงินกู้แล้ว ทั้งนี้ ไม่เกิน 5% ของรายได้ที่เกิดขึ้นจริงในปีนั้นๆ ของเอกชนคู่สัญญา.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ