นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน กล่าวถึงกรณีหนี้ครัวเรือนของไทยที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยปัจจุบันอยู่ที่ 15.09 ล้านล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นหนี้ที่เพิ่มขึ้นมาช่วงหลังปี 62 เนื่องจากมีวิกฤติโควิด-19 โดยข้อมูลย้อนหลังพบว่า สถิติหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีสูงเกิน 80% มาตั้งแต่ปี 56-57 หรือกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ขณะที่รัฐบาลมีเป้าหมายว่า ต้องการให้หนี้ครัวเรือนของประเทศต่ำกว่าระดับ 80% โดยหนี้ครัวเรือนปัจจุบันอยู่ที่ 86.9% ของจีดีพี ลดลงจาก 90% ในช่วงวิกฤติโควิด-19 เนื่องจากเศรษฐกิจขยายตัวดีขึ้นจากช่วงโควิด-19 ที่เคยหดตัว ซึ่งรัฐบาลพยายามแก้ปัญหามาตลอด “หนี้ครัวเรือนต้องไปดูในรายละเอียดว่าหนี้จำนวนนี้เป็นหนี้ที่มีปัญหาหรือไม่ เพราะบางส่วนกู้เงินมาเพื่อซื้อบ้าน-รถยนต์ ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็น แต่ทำอย่างไรให้หนี้ครัวเรือนไม่เกิดปัญหาคือสามารถบริหารจัดการได้ ถ้าบริหารจัดการได้ก็ไม่มีปัญหา ส่วนจะส่งผลต่อการใช้จ่ายและการบริโภคของประชาชนหรือไม่ ต้องดูว่าลักษณะการก่อหนี้เป็นอย่างไร หากมีปัญหาการชำระหนี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อไปยังการใช้จ่ายของประชาชน”
นายสุพัฒนพงษ์ ยังได้ตอบคำถาม ว่ามีความกังวลหรือไม่ว่านโยบายรัฐบาลใหม่จะมีส่วนสร้างหนี้ครัวเรือนให้เพิ่มขึ้นด้วยหรือไม่ นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ยังไม่ได้ศึกษาวิเคราะห์ในรายละเอียด ต้องให้รัฐบาลใหม่เข้ามาทำงานก่อน ที่ผ่านมารัฐบาลปัจจุบันพยายามแก้ไขปัญหาหนี้ โดยเฉพาะเรื่องการสร้างความเป็นธรรม ในประเด็นการคิดอัตราดอกเบี้ยไม่ให้สูงจนเกินไป มีการออกกฎหมาย เช่น พ.ร.บ.ทวงหนี้ฯ ซึ่งกำหนดขั้นตอนการทวงหนี้ การคิดอัตราดอกเบี้ยที่ไม่แพง มีหน่วยงานกำกับดูแล ซึ่งรวมถึงการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์ สหกรณ์ครู ที่ปล่อยกู้ให้กับสมาชิก หรือไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องเข้าไปให้การสนับสนุน โดยสหกรณ์ครูเรากำหนดว่าการหักเงินเพื่อชำระหนี้ต้องให้ผู้กู้มีเงินเดือนเหลือไม่น้อยกว่า 30% ไม่ใช่ตัดเงินจนหมด และรัฐบาลได้ให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เป็นหน่วยงานหลักในการดูแลแก้ปัญหาหนี้สินของข้าราชการ “รัฐบาลนี้ไม่ได้ส่งมอบสิ่งที่เป็นปัญหาให้รัฐบาลใหม่ สามารถให้รัฐบาลใหม่เข้า มาทำงานต่อเนื่องได้เลยรวมทั้งเรื่องการแก้ปัญหาหนี้สิน”.