กสทช.ยืนยันห้ามนำเข้าเครื่องจำลองสถานีฐานปลอม (False Base Station) ที่ใช้ส่ง SMS อ้างเป็นแบงก์ หลอกกดลิงก์ดูดเงินจากบัญชีเสียหายกว่า 200 ล้านบาท แจงเครื่องที่แก๊งโจรใช้ เป็นการลักลอบนำเข้าเพราะเป็นอุปกรณ์ที่ต้องขออนุญาตจาก กสทช. เร่งเดินกวาดล้างห้างมาบุญครอง
นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เปิดเผยถึงกรณีมีผู้กระทำความผิดใช้เครื่องจำลองสถานีฐานปลอม (False Base Station) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ในการสร้างเสาสัญญาณโทรศัพท์ปลอมส่ง SMS ไปถึงลูกค้าธนาคาร ล่อลวงให้กดลิงก์ที่ส่งผ่าน SMS จนถูกอาชญากรเข้าควบคุมมือถือ จากระยะไกลและดูดเงินออกจากบัญชีแบงก์จนเกิดความเสียหายนั้น
ในส่วนของความรับผิดชอบของ กสทช. อุปกรณ์โทรคมนาคมดังกล่าวเป็นอุปกรณ์ที่ต้องขออนุญาตนำเข้า ซึ่งในกรณีเครื่องจำลองสถานีฐาน ปลอม (False Base Station) นั้น กสทช.จะไม่อนุญาตให้นำเข้าเด็ดขาด เพราะถือเป็นภัยร้ายต่อประชาชน “เครื่องที่อาชญากรใช้นั้นเป็นเครื่องเถื่อน เพราะหากมีการขออนุญาตนำเข้า กสทช.จะไม่อนุญาตเด็ดขาด เช่นเดียวกับเครื่องกวนสัญญาณมือถือ (Jammer) แต่การนำเข้ามาใช้เพื่อการฉ้อโกง เป็นการลักลอบนำเข้า เป็นของเถื่อน ซึ่งต้องอาศัยกำลังจากทุกภาคส่วนช่วยกันตรวจตราด้วยโดยเฉพาะกรมศุลกากร”
โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 26 พ.ค.2566 ที่ผ่านมา ทางสำนักงาน กสทช.ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจสอบการจำหน่ายอุปกรณ์โทรคมนาคมที่ศูนย์การค้ามาบุญครอง ไม่ให้มีกรณีวางขายสินค้าลักลอบนำเข้า พร้อมทำความเข้าใจและกำชับเหล่าผู้ค้าให้เพิ่มความระมัดระวัง
ด้านนายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า มีประชาชนจำนวนมากได้รับความเดือดร้อนจากกรณีดังกล่าว โดยมิจฉาชีพแอบอ้างส่ง SMS ธนาคารกสิกรไทยให้กับลูกค้าธนาคารมากกว่า 20,000 บัญชี และใช้แอปพลิเคชันควบคุมเครื่องระยะไกล โอนเงินจากบัญชีธนาคารของลูกค้าทำให้สูญเสียเงินประมาณ 200 ล้านบาท โดยดีอีเอสได้ร่วมกับสำนักงานตำรวจ แห่งชาติ (สตช.) สำนักงาน กสทช. สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่ง ชาติ (สกมช.) ธนาคารกสิกรไทย ตลอดจนบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส และบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ทลายรังแก๊งสวมรอยธนาคารกสิกรไทยส่ง SMS หลอก ดูดเงิน โดยมีผู้กระทำความผิดทั้งหมด 6 คน พร้อม ของกลางรถยนต์ที่ติดตั้งเครื่องจำลองสถานีฐานปลอม (False Base Station) จำนวน 4 คัน พร้อมระบบ คอมพิวเตอร์ที่ใช้ก่อเหตุจำนวน 5 ชุด และได้เปิด แถลงข่าวไปเมื่อวันที่ 25 พ.ค.2566 ที่ผ่านมา
ส่วนกรณีผู้กระทำความผิดดังกล่าว ไม่เพียงเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม เท่านั้น แต่ยังมีความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับการฉ้อโกง และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นโทษทางอาญาที่สูง และจะต้องดำเนินคดีจนถึงที่สุด ซึ่งอาจจะขยายผลในเรื่องเงินที่ได้รับจากกระบวนการต่างๆไปยังบุคคลข้างเคียง ภายหลังจากที่ได้มีการบังคับใช้ พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ตั้งแต่เดือน มี.ค.2566 เป็นต้นมา ซึ่งกฎหมายดังกล่าวทำให้มิจฉาชีพจัดหาซิมม้าและบัญชีม้าได้ยากขึ้น มิจฉาชีพต้องเปลี่ยนวิธีที่ใช้ในการหลอกลวงประชาชน ทำให้มีโอกาสจับคนร้ายในประเทศได้มากขึ้น”
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การเจาะเข้าควบคุมมือถือของเหยื่อจากทางไกล ผ่านการใช้เครื่อง จำลองสถานีฐานปลอม (False Base Station) นั้น เป็นกลเม็ดที่ใช้ในจีนและไต้หวันมาก่อน โดยเป็นการใช้งานร่วมกันของ 4 อุปกรณ์ ได้แก่ เสาสัญญาณ (Antenna), สถานีฐาน (Base Station) หรือที่เรียกกันว่าปลากระเบน, คอมพิวเตอร์แล็ปท็อป และเพาเวอร์แบงก์สำหรับการจ่ายไฟ โดยเหล่าอาชญากรจะขับรถที่มีเครื่องจำลองสถานีฐานปลอมแล่นไปตามเส้นทางที่มีประชาชนสัญจรเป็นจำนวนมาก เช่น อโศก สยาม สุวรรณภูมิ บางบัวทอง ซึ่ง สัญญาณจากสถานีฐานปลอมจะลักลอบเข้าใช้คลื่นความถี่ของค่ายมือถือ ทำให้เครือข่ายล่มลงชั่วขณะราว 3-5 วินาที เหยื่อส่วนใหญ่จึงแทบไม่รู้ตัว จากนั้นสถานีฐานปลอมจะส่ง SMS เข้าเบอร์มือถือที่อยู่ละแวกนั้นเป็นวงกว้าง แนบลิงก์ที่หากเหยื่อกดเข้าไปจะถูกอาชญากรเข้าควบคุมเครื่องจากทางไกลได้ โดยขั้นตอนการส่ง SMS จะกินเวลาไม่กี่วินาที ก่อนรถของอาชญากรจะเคลื่อนตัวไปข้างหน้า ซึ่งจะทำให้สัญญาณจากสถานีฐานปลอมอ่อนกำลังลง และเครือข่ายมือถือของเหยื่อกลับมาใช้งานได้อีกครั้ง โดยการก่อเหตุดังกล่าว เป็นการปลอมใช้ SMS ของธนาคารกสิกรไทย และลักลอบใช้คลื่นของเอไอเอสและทรู ส่วนคลื่นของดีแทคไม่พบถูกลักลอบใช้งาน.