ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้กรมสรรพากรได้เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ภาษีการเดินทางออกนอกราชอาณาจักร พ.ศ.2526 เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 77 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2560 เพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย เนื่องจากกฎหมายฉบับดังกล่าวประกาศใช้มาเป็นเวลากว่า 40 ปีแล้ว และยังไม่เคยจัดเก็บภาษีแต่อย่างใด ดังนั้นกรมสรรพากรขอเชิญชวนหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงประชาชนทั่วไป ร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะผ่านทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากรได้ตั้งแต่วันที่ 3-17 พ.ค.2566
สำหรับสาระสำคัญของ พ.ร.ก.ภาษีการเดินทางออกนอกราชอาณาจักรนั้น ได้ประกาศใช้เมื่อปี 2526 แต่ได้ยกเว้นการจัดเก็บภาษีอากรทุกกรณีมาจนถึงปัจจุบัน โดยวัตถุประสงค์ของการจัดเก็บภาษีดังกล่าว เพื่อเป็นการหารายได้ ให้แก่รัฐบาล และป้องกันมิให้คนไทยนําเงินตราต่างประเทศออกนอกราชอาณาจักรเกินสมควร
ส่วนอัตราภาษีนั้น พ.ร.ก.ภาษีการเดินทางออกนอกราชอาณาจักรได้กําหนดอัตราภาษีการเดินทางไว้ไม่เกินครั้งละ 5,000 บาท แต่ได้มีการออกกฎกระทรวงกําหนดอัตราภาษีการเดินทางไว้ดังนี้ การเดินทางโดยทางอากาศ ครั้งละ 1,000 บาท และการเดินทางโดยทางบกหรือทางนํ้า ครั้งละ 500 บาท หากหลีกเลี่ยงการเสียภาษี จะได้รับโทษ คือ เสียเบี้ยปรับ 2 เท่า และเงินเพิ่มอีก 1.5% ต่อเดือน หรือเศษของเดือน
โดยไม่รวมเบี้ยปรับ นอกจากนี้ยังมีโทษทางอาญา จําคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่ เกินสามพันบาท สําหรับผู้ประกอบการขนส่งที่รับชําระภาษีการเดินทางจากผู้เสียภาษีแล้ว แต่ไม่นําส่งภาษี ตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีกรมสรรพากรกําหนด ต้องรับโทษ คือ เสียเบี้ยปรับ 2 เท่า และเสียเงินเพิ่มอีก 1.5% ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของภาษีที่ต้องเสียโดยไม่รวมเบี้ยปรับ สำหรับผู้มีหน้าที่เสียภาษี คือ ผู้ที่มีสัญชาติไทย เดินทางออกไปจากประเทศ ไม่ว่าผู้เดินทางจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ เว้นแต่จะได้รับยกเว้นตามกฎหมาย
นายเจริญ วังอนานนท์ นายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (ทีทีเอเอ) ทัวร์เอาต์บาวนด์ หรือทัวร์คนไทยเที่ยวต่างประเทศ กล่าวว่า เรื่องของการออกกฎหมายเพื่อเก็บภาษีของไทยเดินทางไปเมืองนอก ต้องยอมรับว่าตอนแรกที่รู้และเห็นประกาศคิดว่าเป็นข่าวปลอม แทบจะไม่มีคนรู้เรื่องเลย บริษัททัวร์ไม่รู้ ททท.ไม่รู้ ประชาชนไม่รู้ เรื่องนี้ถือเป็นผลกระทบทางลบต่อภาพรวมของประเทศ ส่วนเหตุผลที่ให้ไว้ว่า เก็บภาษีเดินทางต่างประเทศ เพื่อหารายได้ให้แก่รัฐบาล และป้องกันมิให้คนไทยนําเงินออกนอกราชอาณาจักรเกินสมควร ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาการขาดดุลการค้า และรักษาดุลการชําระเงินของประเทศ รัฐบาลเข้าใจอะไรผิดไหม อยากรู้ว่าเอาหลักคิดอะไรมาจากไหน.