“ม.ล.ชโยทิต” เจาะลึกนโยบายพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ภายใต้แนวคิด “ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ” ยืนยัน “ลุงตู่” บริหารเศรษฐกิจประเทศฟื้นแล้ว ขออย่าด้อยค่าประเทศ เปิดไอเดียตั้งกองทุนรวม 2 แสนล้านบาท และกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน 3 แสนล้านบาท
ม.ล.ชโยทิต กฤดากร หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ พรรครวมไทยสร้างชาติ เปิดเผยว่า นโยบายของพรรครวมไทยสร้างชาติจะสานต่องานที่รัฐบาลปัจจุบันทำอยู่ ภายใต้แนวคิด “ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ” โดยขอยืนยันว่าการบริหารประเทศ ภายใต้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ทำให้เศรษฐกิจฟื้นแล้ว แต่ในระหว่างการหาเสียงของแต่ละพรรคการเมือง โดยเฉพาะเวลาขึ้นเวทีดีเบต มีการพูดว่าเศรษฐกิจไม่ดี ต้องถามกลับว่าเอาข้อมูลตรงไหนมา อย่างช่วงที่ผ่านมาของปีนี้เศรษฐกิจขยายตัวแล้ว 3.6% ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย บอกว่าในครึ่งปีหลังจะขยายตัวกว่า 4% ขณะที่ประเทศไทยมีเงินออมสูงและมีมากกว่าเงินกู้ สิ่งนี้คือเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของไทย ไม่เช่นนั้นกรณีธนาคารล้มในสหรัฐฯ ไทยก็คงถูกกระทบไปแล้ว
“ส่วนเศรษฐกิจประเทศอื่นที่ขยายตัวมากกว่าไทย เพราะเศรษฐกิจเขาเด็กกว่า ยังมีขนาด 1 ใน 3 หรือครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจไทยอยู่เลย หรือลองไปดูอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไตรมาส 4 ของปี 2565 เปรียบเทียบกับไตรมาส 1 ของปี 2566 ปักหัวลงหมด มีไทยประเทศเดียวในอาเซียนที่เพิ่มขึ้น เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไม่ได้มีแต่เรื่องการส่งออก ยังมีเรื่องท่องเที่ยวที่เคยหายไป ตอนนี้กลับมาแล้ว สิ่งที่น่าเสียใจ คือในระหว่างการหาเสียงมีการนำข้อมูลมาห้ำหั่นกัน มาด้อยค่าประเทศ โดยไม่มีความเป็นจริงเป็นหลัก ทำให้ประชาชนสับสน”
หัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่า มีความเชื่อเสมอว่าความเท่าเทียมคือให้โอกาสคน การแจกเงินอย่างไม่มีเหตุผล การปล้นคนกลุ่มหนึ่งมาให้คนอีกกลุ่มหนึ่ง หรือไปเก็บภาษีคนมีเงิน เขาเห็นด้วยไหมถ้าเอาไปก่อรายได้ให้ประเทศไม่ว่ากัน แต่เอาไปแจกอีก หรืออย่างพรรคคู่แข่งที่บอกว่า เงินที่จะเอามาแจก ส่วนหนึ่งจะเอามาจากภาษีที่จะเก็บได้เพิ่มขึ้น 260,000 ล้านบาท ถามว่าถ้ารัฐบาลปัจจุบันไม่ทำเศรษฐกิจฟื้น จะจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นหรือไม่
“พูดกันให้ชัดๆ หากเศรษฐกิจแย่ อยู่ในหลุมดำ จะเก็บภาษีได้ไหม หรือจะเป็นเหมือนอีกพรรคหนึ่งไปปล้นมา เดี๋ยวจะเหมือนประเทศฝรั่งเศสที่ไล่เก็บภาษีคนรวย จนคนรวยขนเงินออกนอกประเทศกันหมด ในที่สุดรัฐบาลก็ต้องยกเลิกเพื่อดึงคนรวยกลับประเทศ”
สำหรับนโยบายของพรรครวมไทยสร้างชาติ คือ การสร้างความสามัคคีในประเทศ คนรวยต้องเสียสละและเต็มใจช่วยประเทศขับเคลื่อนไปข้างหน้า และมีแผนหาเงินที่ชัดเจน ใน 2 ปีข้างหน้าหารายได้เข้าประเทศ 4 ล้านล้านบาทไม่ใช่ความฝัน ตอนนี้ที่เห็นแล้ว มาจากนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทย 360,000 ล้านบาท สมาร์ท อิเล็กทรอนิกส์ 700,000 ล้านบาท อุตสาหกรรมดิจิทัล 300,000 ล้านบาท นี่คือพวกที่มาแล้ว ขณะที่ชาวต่างชาติที่เข้ามาไทยผ่านการขอวีซ่าพำนักระยะยาว (แอลทีอาร์) ยังต้องรอให้ครบ 500,000 คน จะมีการใช้เงินในไทย 600,000 ล้านบาท และซาอุดีอาระเบีย ชาติเดียวที่จะมาลงทุนผลิตพลังงานไฮโดรเจนในไทย 600,000 ล้านบาทได้เซ็นสัญญากันไปแล้ว
ฉะนั้น เลิกด้อยค่าประเทศไทยเถอะ ประเทศไทยโคตรเจ๋งเลย ไม่ได้แย่แบบที่คิด ต่างชาติพูดถึงไทยในอาเซียนว่าตอนนี้สดใสที่สุด
ประเด็นสำคัญของการช่วยเหลือประชาชนจะมุ่งเน้นกลุ่มคนเปราะบาง อย่างบัตรสวัสดิการ พลัส จะเพิ่มเงินให้เดือนละ 1,000 บาท รวมปีละ 12,000 บาท และให้กู้เงินฉุกเฉินจากธนาคารของรัฐได้ 10,000 บาท และจะใช้งบประมาณ 60,000 ล้านบาท ทำโครงการคนละครึ่ง และอีก 18,000 ล้านบาท ทำโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฉพาะการท่องเที่ยวเมืองรอง
รวมทั้งเน้นการแก้ปัญหาหนี้ให้ประชาชน ประกอบด้วย การกำหนดเพดานดอกเบี้ยเช่าซื้อรถยนต์ เพื่อให้ชำระดอกเบี้ยต่ำลง การแก้ปัญหาหนี้ กยศ. 6.8 ล้านราย ที่เสียดอกเบี้ยอยู่ 7-8% จะลดดอกเบี้ยให้เหลือ 0.5% พร้อมปลดคนค้ำประกัน 3 ล้านคนออก รวมทั้งทำระบบบริหารสหกรณ์ของประเทศใหม่ ซึ่งปัจจุบันดอกเบี้ยสูงมาก รวมทั้งการแก้ไขหนี้บุคคล รหัส 21 ที่เกิดขึ้นระหว่างที่เกิดโควิด-19 ประมาณ 30 ล้านราย มูลหนี้กว่า 400,000 ล้านบาท รวมทั้งหาวิธีแก้หนี้ภาคเกษตรให้เบ็ดเสร็จ โดยอยู่ระหว่างหารือกับสถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์ โดยการแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งหมดนี้จะลดสัดส่วนของหนี้ครัวเรือนลงมาได้
พร้อมกันนี้ จะผลักดันให้คนไทยมีรายได้เสริมจากเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (บีซีจี) ซึ่งปัจจุบันมีการทำเป็นรูปธรรมแล้ว เช่น การทำเชื้อเพลิงชีวภาพ การเพิ่มมูลค่าจากการจัดการขยะชุมชน การจัดการขยะพลาสติกครบวงจร การทำโรงไฟฟ้าชีวมวล และโรงไฟฟ้าชุมชน พรรครวมไทยสร้างชาติคำนวณแล้วว่าสามารถเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรได้ทันที 30-40%
ส่วนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ จากที่ตอนนี้มีเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ก็จะขยายรูปแบบนี้ไปยังภาคเหนือ อีสาน ใต้
ม.ล.ชโยทิตกล่าวต่อไปว่า มีไอเดียที่แตกต่างจากพรรคอื่นค่อนข้างมาก เรื่องการตั้งกองทุนในรูปแบบกองทุนรวมวงเงิน 200,000 ล้านบาท โดยขายหน่วยลงทุนให้ประชาชน มีผลตอบแทนและสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้เหมือนกองทุนรวมระยะยาว (แอลทีเอฟ) ประกอบด้วย กองทุนเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) 100,000 ล้านบาท ให้ผู้ประกอบการเอาบิลหรือเอกสารทางการค้ามาแลกเพื่อนำเงินสดไปใช้ก่อน โดยคิดค่าธรรมเนียมถูกกว่าธนาคาร ส่วนต่อมา คือ กองทุนปรับโครงสร้างเอสเอ็มอี 50,000 ล้านบาท ให้ทำงานร่วมกับธนาคารของรัฐในการปล่อยสินเชื่อ ส่วนที่ 3 คือกองทุนบีซีจี 30,000 ล้านบาท เพื่อให้การพัฒนาอุตสาหกรรมบีซีจี กระจายไปทั่วประเทศ เช่น นำไปใช้ในโครงการโคล้านตัว ธุรกิจหมุนเวียน ธุรกิจสีเขียว
นอกจากนี้ จะมีการจัดตั้งกองทุนธุรกิจสร้างสรรค์และสตาร์ตอัพ 10,000 ล้านบาท แหล่งที่มาของเงินทุนอาจจะแตกต่างจากกองทุนอื่น โดยรัฐจะเป็นผู้ไปเจรจากับผู้ประกอบธุรกิจกลุ่มใหญ่ๆที่สนใจลงเงิน 5,000 ล้านบาท เพื่อให้เป็นผู้ขับเคลื่อน และประชาชนที่สนใจ 5,000 ล้านบาท รวมทั้งจะใช้ธนาคารของรัฐจัดทำกองทุนปลูกป่า เพราะรายได้ที่จะได้ในอนาคตมาจากการขายคาร์บอนเครดิต
ส่วนที่จะใช้งบประมาณภาครัฐคือ กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ที่เดิมมีอยู่ 10,000 ล้านบาท จะขอเพิ่มเป็น 300,000 ล้านบาท เพื่อนำไปดึงดูดและสนับสนุนอุตสาหกรรมที่ประเทศต้องการ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมชิป ซึ่งการจะดึงเข้ามาประเทศไทยได้จะต้องมีเงินสนับสนุน หลังการลงทุนไปแล้วจะได้กลับมาไม่ต่ำกว่า 15 เท่า โดยการผลิตของแต่ละบริษัทใช้เงินลงทุนเฉลี่ย 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หากกองทุนลงครึ่งหนึ่งหรือ 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ก็ต้องใช้เงิน 70,000 ล้านบาทแล้ว จึงต้องตั้งกองทุนไว้ 300,000 ล้านบาท เพราะไม่ได้มองไว้เพียงรายเดียว ที่จะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตชิป ที่จะป้อนธุรกิจสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศ.