คนใช้แรงงานขอ ปรับค่าแรง-โบนัส รายได้หดไม่มีเก็บ ผลกรุงเทพโพลล์

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

คนใช้แรงงานขอ ปรับค่าแรง-โบนัส รายได้หดไม่มีเก็บ ผลกรุงเทพโพลล์

Date Time: 30 เม.ย. 2566 05:10 น.

Summary

  • กรุงเทพโพลล์ชี้แรงงานเมืองกรุงและปริมณฑล ส่วนใหญ่ยังมีความเป็นอยู่เหมือนเดิมค่อนไปทางแย่ลง หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย โดยได้รับผลกระทบจังๆคือรายได้ต่อวันลดลงต้องทำงานหนักขึ้น

Latest

ล้อมคอกรถโดยสารสาธารณะยึดมาตรฐาน "UN”

กรุงเทพโพลล์ชี้แรงงานเมืองกรุงและปริมณฑล ส่วนใหญ่ยังมีความเป็นอยู่เหมือนเดิมค่อนไปทางแย่ลง หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย โดยได้รับผลกระทบจังๆคือรายได้ต่อวันลดลงต้องทำงานหนักขึ้น ขณะเดียวกันยังต้องการพัฒนาทักษะในการปรับตัว ตามด้วยทักษะทางภาษา และทักษะในการสื่อสารทางการตลาด ส่วนสิ่งที่อยากได้ อยากให้ควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคพื้นฐานไม่ให้ขึ้นราคา รวมถึงเร่งขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ มีโบนัสทุกปี

เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ หรือวันแรงงานสากล วันที่ 1 พ.ค. ประจำปี 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 29 เม.ย. กรุงเทพโพลล์โดยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ความหวังของแรงงานไทย ในวันแรงงานแห่งชาติ” เพื่อสะท้อนชีวิตความเป็นอยู่ในวันนี้เป็นอย่างไร เมื่อเทียบกับช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 เพื่อต้องการทราบถึงผลกระทบที่ยังต้องเจอหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 คลี่คลาย รวมถึงสะท้อนถึงสิ่งที่อยากขอให้กับแรงงานในวันแรงงานแห่งชาติปีนี้ และเพื่อสะท้อนถึงทักษะที่อยากให้มีการพัฒนา เพื่อเพิ่มศักยภาพต่อการเข้าสู่ตลาดแรงงานสากล โดยสำรวจระหว่างวันที่ 18-23 เม.ย.2566 เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างแรงงานในพื้นที่กรุงเทพ มหานครและปริมณฑล ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 11 เขต จากทั้งหมด 50 เขต แบ่งเป็นเขตชั้นใน ชั้นกลาง และชั้นนอก ได้แก่ จตุจักร ดอนเมือง ดุสิต บางเขน บางกะปิ บางซื่อ ภาษีเจริญ มีนบุรี สายไหม หนองแขม หลักสี่ และปริมณฑล 2 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี ด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-Stage Sampling) จากนั้นใช้วิธีเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์แบบพบตัว ได้กลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 643 คน

ทั้งนี้ ในประเด็นชีวิตความเป็นอยู่ในวันนี้เป็นอย่างไร เมื่อเทียบกับช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 พบว่ากลุ่มตัวอย่างแรงงาน ร้อยละ 41.4 มีชีวิตความเป็นอยู่เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ส่วนร้อยละ 30.9 มีชีวิตความเป็นอยู่แย่ลง ขณะที่ร้อยละ 27.7 มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ส่วนยังต้องเจอผลกระทบต่อการทำงานหรือไม่ หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 คลี่คลาย พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 71.9 ยังเจอผลกระทบ ในจำนวนนี้ ร้อยละ 44.5 รายได้ต่อวันลดลงจากเดิม รองลงมา ร้อยละ 31.3 ต้องทำงานเยอะขึ้น งานหนักขึ้น และร้อยละ 24.0 ไม่มีโอที เงินโบนัส ขณะที่ร้อยละ 28.1 ไม่เจอกับผลกระทบ

ส่วนประเด็น “ในปัจจุบันรายรับจากค่าจ้างแรงงานกับรายจ่ายเป็นอย่างไร” พบว่า แรงงานร้อยละ 45.7 มีรายรับพอดีกับค่าใช้จ่าย จึงไม่มีเงินเหลือเพื่อเก็บออม ขณะที่ร้อยละ 38.6 มีรายรับไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ต้องกู้ ต้องหยิบยืม ส่วนที่เหลือ ร้อยละ 15.7 มีรายรับเพียงพอกับค่าใช้จ่ายและมีเงินเก็บ ขณะที่สิ่งที่อยากขอให้กับแรงงาน ในวันแรงงานแห่งชาติปีนี้ ส่วนใหญ่ร้อยละ 73.9 อยากให้ควบคุมราคาสินค้าอุปโภค บริโภคพื้นฐานไม่ให้ขึ้นราคา กระทบค่าครองชีพ รองลงมาคือ อยากให้เร่งขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ คิดเป็นร้อยละ 72.2 และอยากให้มีสวัสดิการโบนัสแก่แรงงานในทุกๆปี คิดเป็นร้อยละ 52.7

ประเด็นสุดท้าย อยากให้มีการพัฒนาทักษะในด้านใด เพื่อเพิ่มศักยภาพต่อการเข้าสู่ตลาดแรงงานสากล พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 63.6 อยากให้พัฒนาทักษะในการปรับตัวและเปิดรับในการเรียนรู้สิ่งใหม่ รองลงมาคือ ทักษะทางภาษา คิดเป็น ร้อยละ 44.6 และทักษะในการสื่อสารทางการตลาด คิดเป็นร้อยละ 27.1


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ