ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์การใช้ไฟฟ้าในช่วงฤดูร้อนของไทยร้อนแรงมาก ล่าสุดคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้รายงานสถิติปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) ในระบบของ 3 การไฟฟ้า คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.), การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ในรอบปีนี้เกิดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 แล้ว โดยมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด 32,963 เมกะวัตต์ เมื่อเวลา 20.52 น. ของวันที่ 6 เม.ย.66 ด้วยอุณหภูมิ 31.2 องศาเซลเซียส เนื่องจากอุณหภูมิในประเทศไทยร้อนจัด ส่งผลให้แต่ละบ้านเปิดเครื่องปรับอากาศ หรือแอร์และพัดลมคลายร้อนพร้อมๆกัน จนทำให้เกิดการใช้ไฟฟ้าพีก
สำหรับสถิติพีกของปีนี้ นับเป็นครั้งที่ 3 ในปีนี้ แต่ยังไม่ทำลายสถิติพีกในระบบของประเทศ ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 เม.ย.65 เวลา 14.30 น. ที่อยู่ที่ 33,177.3 เมกะวัตต์ที่อุณหภูมิ 32.0 องศาเซลเซียส ส่วนการเกิดพีกปีนี้ครั้งแรก เกิดเมื่อวันที่ 27 มี.ค.66 ณ เวลา 15.43 น. อยู่ที่ 31,054.6 เมกะวัตต์ และครั้งที่ 2 วันที่ 4 เม.ย. ณ เวลา 15.28 น. อยู่ที่ 31,495.5 เมกะวัตต์ จึงต้องติดตามต่อไปว่า จะเกิดครั้งที่ 4 หรือครั้งที่ 5 อีกหรือไม่
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า คาดว่าพีกปีนี้จะอยู่ที่ 39,000 เมกะวัตต์ จึงขอแนะนำให้ประชาชนช่วยกันประหยัดพลังงาน โดยใช้หลัก 4 ป. ปฏิบัติการ คือ ปิด-ปรับ-ปลด-เปลี่ยน การใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้า เพื่อความประหยัดของครัวเรือน คือ ปิด-การปิดไฟดวงที่ไม่จำเป็น , ปรับ-ปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศให้เหมาะสม 26 องศาเซลเซียส เพิ่ม 1 องศา ประหยัดไฟเพิ่ม 10% และปรับคูล โหมด เป็น แฟน โหมด
นอกจากนี้ ควรปลด-ปลดปลั๊กไฟเมื่อเลิกใช้ และเปลี่ยน-เปลี่ยนไปใช้อุปกรณ์ประหยัดพลังงานเบอร์ 5 และเปลี่ยนเวลาที่ใช้ไฟฟ้า คือหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็นใน 2 ช่วงเวลา คือ เวลา 13.00-15.00 น. และ 19.00-21.00 น. เพื่อลดปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศ และหมั่นตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ ถ้าชำรุดต้องซ่อมแซมทันที ป้องกันการเกิดไฟฟ้าลัดวงจร รวมทั้งติดตั้งสายดิน เครื่องตัดไฟรั่ว เพื่อป้องกันอันตรายจากกระแสไฟฟ้า.