ขอเป็นองค์กรสร้างรายได้ อพท.ชงกลับมาพัฒนาพื้นที่พิเศษเท่านั้น

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ขอเป็นองค์กรสร้างรายได้ อพท.ชงกลับมาพัฒนาพื้นที่พิเศษเท่านั้น

Date Time: 7 เม.ย. 2566 06:55 น.

Summary

  • อพท.ครบรอบ 20 ปีเต็ม เตรียมเสนอพระราชกฤษฎีกาแก้ไขบทบาท อพท.ให้กลับมาพัฒนาเฉพาะพื้นที่พิเศษเท่านั้น พร้อมขอให้สามารถหารายได้ และร่วมลงทุนในโครงการต่างๆได้ เตรียมนำท่าเรือบ้านสลักเพชร

Latest

Easy E-Receipt 2568 ลดหย่อนเท่าไร ซื้ออะไรได้บ้าง

อพท.ครบรอบ 20 ปีเต็ม เตรียมเสนอพระราชกฤษฎีกาแก้ไขบทบาท อพท.ให้กลับมาพัฒนาเฉพาะพื้นที่พิเศษเท่านั้น พร้อมขอให้สามารถหารายได้ และร่วมลงทุนในโครงการต่างๆได้ เตรียมนำท่าเรือบ้านสลักเพชร และท่าเรือบางเบ้า ที่ อพท.เป็นเจ้าของกลับมาใช้ประโยชน์หลังถูกทิ้งไปนับ 10 ปี

นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. เปิดเผยว่า ปี 66 อพท. มีภารกิจเร่งด่วน โดยให้ความสำคัญกับโครงการ Big Rock ที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ที่จะขับเคลื่อนให้เกิดผลสัมฤทธิ์ด้านเศรษฐกิจในระดับที่มีผลกระทบ (Impact) เกิดการจ้างงาน และกระจายรายได้อย่างยั่งยืน จัดทำโครงการที่จะทำให้มีรายได้กลับเข้ามาอย่างรวดเร็ว เช่น อพท.เป็นเจ้าของท่าเรือ 2 แห่งในเกาะช้าง ได้แก่ ท่าเรือบ้านสลักเพชร และท่าเรือบางเบ้า ที่ใช้งบก่อสร้างนับร้อยล้านบาทในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เมื่อสร้างเสร็จทางกรมอุทยานแห่งชาติไม่รับการส่งมอบ ทำให้ท่าเรือดังกล่าวไม่ได้ใช้ประโยชน์มาเกินกว่า 10 ปี จึงมีแนวคิดที่จะนำมาทำให้เกิดการสร้างรายได้ให้เกิดขึ้น

ขณะเดียวกัน อพท.จะครบรอบก่อตั้งองค์กร 20 ปีเต็ม และกำลังก้าวสู่ทศวรรษที่ 3 ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินงานของ อพท.มีความคล่องตัวและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จึงเตรียมขอแก้ไขพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง อพท. ให้มีอำนาจในการเสนอเรื่องการประกาศพื้นที่พิเศษ ตลอดจนการเสนอแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ฯ ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา ภายหลังคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติได้ให้ความเห็นชอบแล้ว รวมถึงปรับปรุงนิยามของพื้นที่พิเศษให้เหมาะสม ตามบริบทในการดำเนินงานของ อพท.ในปัจจุบัน

“ย้อนไปเมื่อตอนรัฐบาลทักษิณถูกปฏิวัติ ในปี 2549 อพท.เป็นองค์กรหนึ่งที่ถูกมองว่าจะต้องยุบทิ้งหรือไม่ ในตอนนั้นจึงมีการปรับภารกิจของ อพท.จากเดิมดูแลและพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเฉพาะในพื้นที่พิเศษเท่านั้น เป็นดูแลการท่องเที่ยวโดยชุมชน ซึ่งปัจจุบันดูแลอยู่กว่า 200 ชุมชน ซึ่งกำลังคนของ อพท.มีไม่เพียงพอและปัจจุบันพบว่ามีหลายหน่วยงานเข้าไปดูแลชุมชนมากมาย อพท.จึงสมควรที่จะกลับไปสู่ภารกิจในการจัดตั้งองค์การตั้งแต่ต้นคือ เข้าไปดูแลเฉพาะพื้นที่พิเศษเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันมี 9 แห่ง”

ทั้งนี้ หากต้องการเพิ่มพื้นที่พิเศษแห่งใหม่ ก็เสนอ ครม.ประกาศเพิ่มขึ้นได้ หรือถ้าแห่งใดที่พัฒนาเต็มที่แล้วก็ยกเลิกการเป็นพื้นที่พิเศษ เช่น พื้นที่พิเศษอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ที่ได้รับหลายรางวัลจากยูเนสโก อพท.ก็ควรถอยออกมาได้แล้ว เพราะมีหลายหน่วยงานเข้าไปดูแล หรืออย่างพื้นที่พิเศษเมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยง ปัจจุบันมีทั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี เข้าไปดูแล อีกทั้งยังอยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) อพท.ก็น่าจะถอยออกมาแล้วไปพัฒนาพื้นที่อื่น เพราะหากยังอยู่ที่เดิม เราก็เป็นเหมือนแค่แมลงบินไปบินมา ตัวเล็กนิดเดียว ขณะที่กำลังคนของ อพท.ก็มีน้อย

นอกจากนั้น จะขอแก้ไขให้ อพท.สามารถหารายได้เพิ่มเติมจากทรัพย์สินและกิจกรรมสำคัญของ อพท. เพื่อลดภาระในการพึ่งพางบประมาณ โดยจะเสนอแผนงานที่เป็นรูปธรรมในการสร้างประโยชน์และรายได้จากทรัพย์สินของ อพท. ที่มีในปัจจุบัน และที่บรรจุไว้ในแผนยุทธศาสตร์รายพื้นที่ รวมทั้งสร้างรายได้จากกิจกรรมสำคัญของ อพท. อาทิ จากหลักสูตรและองค์ความรู้ของ อพท. การจัดประชุมวิชาการด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน รวมถึงการร่วมทุนในรูปแบบต่างๆ ซึ่งขณะนี้ อพท. อยู่ระหว่างการพิจารณาปรับโครงสร้างองค์กรให้สอดคล้องกับบริบทงานที่เปลี่ยนแปลงดังกล่าว.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ