ในโอกาสที่สภาธุรกิจตลาดทุนไทยได้เปิดเวทีให้ 9 พรรคการเมืองมารวมตัวกันประชันนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจและตลาดทุนไทยเมื่อวันที่ 25 มี.ค.2566 ที่ผ่านมา ณ หอประชุมศาสตราจารย์สังเวียน อินทรชัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนั้น
นอกจากคำถามด้านนโยบายเศรษฐกิจ นโยบายสนับสนุนตลาดทุนไทยแล้ว ยังมีคำถามพิเศษจาก “ไพบูลย์ นลินทรางกูร” กรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ในฐานะผู้ดำเนินการอภิปรายส่งตรงถึงตัวแทนพรรค 9 คน ที่มาร่วมงานว่าด้วย “เหตุผลที่นักลงทุนควรเลือกพรรคท่านในการเลือกตั้งครั้งนี้” และ “จะเก็บภาษีขายหุ้นหรือไม่” คำตอบของแต่ละพรรคไล่เรียงจากการจับสลากเริ่มด้วย
“วรภพ วิริยะโรจน์” จาก “ก้าวไกล” บอกเหตุผลเลือกพรรคก้าวไกล เพราะนโยบายภาครัฐ 20 ปีที่ผ่านมา นำพาประเทศไทยไปไกลกว่านี้ไม่ได้ ทั้งที่ประเทศไทยมีศักยภาพ วันนี้มีแผนออกกฎหมายกว่า 40 ฉบับครอบคลุมการแข่งขันทางการค้า สุรา การกระจายอำนาจ กฎหมายดาต้าและสิ่งแวดล้อม หากเป็นรัฐบาลจะผลักดันทันที ส่วนภาษีหุ้นมีแนวคิดเก็บภาษีกำไรจากการขายหุ้น (Capital Gain Tax) แต่ไม่เก็บภาษีจากการขายหุ้น (Transaction Tax)
“พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” จาก “ภูมิใจไทย” ชี้ให้เห็นว่า นโยบายที่ดีแต่ไม่มีโอกาสทำได้จริง คือไม่มีประโยชน์ ภูมิใจไทยมีโอกาสสูงที่จะได้เป็นรัฐบาลและผลักดันนโยบายให้เกิดขึ้นจริงได้ ทำมาแล้วในฐานะดูแลกระทรวงคมนาคม ได้แก่ รถเมล์ EV ซึ่งตอนนี้มี 1,200 คัน ภูมิใจไทยยังไม่เกี่ยงว่าจะเป็นนโยบายของใคร ถ้าดีพร้อมนำไปทำให้เกิดขึ้นจริง ส่วนภาษีหุ้นไม่มีนโยบายจัดเก็บแน่นอน
“สุพันธุ์ มงคลสุธี” จาก “ไทยสร้างไทย” ย้อนรอยเหตุการณ์ 9 ปีที่ผ่านมาคนไทยมีความสุขจริงหรือไม่ วันนี้จะเลือกข้างใดก็คงยังขัดแย้งเหมือนเดิม ไทยสร้างไทยเสนอตัวเป็นทางรอดขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวหน้า สงบสุข ปลอดคอร์รัปชัน โดยได้มีการตั้งสำนักงานปราบโกง (สปก.)ขึ้นมาแก้ปัญหาเป็นการเฉพาะ ส่วนภาษีหุ้นไม่จัดเก็บแน่
“ม.ล.ชโยทิต กฤดากร” จาก “รวมไทยสร้างชาติ” ขอขยายภาพสิ่งที่ทำไปแล้ว ในฐานะหัวหน้าทีมปฏิบัติการเชิงรุกของรัฐบาลตลอด 2 ปีที่ผ่านมา มีการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ได้รับการตอบรับจากทุกค่ายผู้ผลิตรวมทั้งค่ายรถจีน อิเล็กทรอนิกส์ขยับสู่อุตสาหกรรมต้นน้ำ มีผู้พำนักระยะยาวเข้ามาเสริมนักท่องเที่ยว นำไทยสู่ศูนย์กลางอุตสาหกรรมใหม่ ตัวเลขบีโอไอที่เพิ่มขึ้น 35% เป็นเครื่องพิสูจน์ได้ ไทยจะเป็นฐานผลิตที่สะอาดที่สุดในอาเซียน ขณะที่ภาษีหุ้นนั้น มีนโยบายเก็บภาษี Capital Gain Tax ไม่เก็บ Transaction Tax
“สันติ กีระนันทน์” จาก “ชาติไทยพัฒนา” ขอสยบความขัดแย้งที่ทำให้ไทยติดหล่มมากว่า 20 ปี ดีเอ็นเอของชาติไทยพัฒนาคือก้าวข้ามความขัดแย้ง ไม่ทำให้ขัดแย้ง และไม่ตอกลิ่มความขัดแย้ง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะร่วมรัฐบาลกับใครก็ได้ เพราะแนวคิดต้องเข้ากัน ผลงานไม่หวือหวาแต่มีตลอด เน้นการเมืองวิถีใหม่ ไร้คอร์รัปชัน ตั้งเป้าปราบทุจริตทุกระดับ และวราวุธ ศิลปอาชาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ไม่อายใครในโลก ส่วนภาษีหุ้นไม่มีนโยบายจัดเก็บ
“เผ่าภูมิ โรจนสกุล” จาก “เพื่อไทย” สรุป 4 ประเด็นต้องเลือกเพื่อไทย 1.เพื่อไทยคือทุนนิยมที่เท่าเทียม ยืนฝั่งแข่งขันเสรี ตรงข้ามกับการผูกขาด มุ่งเป้าเศรษฐกิจเติบโตสูงแต่ทั่วถึง 2.เพื่อไทยคือพรรคเศรษฐกิจ มีทีมนักการตลาดระดับโลก 3.เพื่อไทยเชื่อในปรัชญารดน้ำที่ราก เชื่อในเอสเอ็มอี แรงงาน เกษตรกร เชื่อในการสร้างฐานจากคนจนให้แน่น 4.เพื่อไทยนิยมสร้างรายได้มากกว่าใช้งบ ดันรายได้ให้เหนือกว่าการแจกสวัสดิการ โดยจะเปิดรับฟังความเห็นเรื่องการเก็บภาษี Transaction Tax ก่อนตัดสินใจ แต่ไม่เก็บ Capital Gain Tax และภาษีคริปโต
“กรณ์ จาติกวณิช” จาก “ชาติพัฒนากล้า” อยากให้ตลาดทุนเป็นของคนไทยทุกคน อยากก้าวข้ามวาทกรรมอมตะ “คนจนเล่นหวย คนรวยเล่นหุ้น” จัดตั้งบริษัทสหกรณ์มหาชนจำกัด ปฏิรูประบบสหกรณ์เป็นบริษัททันสมัย เช่น สหกรณ์ทุเรียน สหกรณ์ข้าวหอม เพราะการรวมตัวคืออำนาจต่อรอง มีตัวอย่างสหกรณ์นมของนิวซีแลนด์ กระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯขึ้นสู่บริษัทท็อปเทน ประชาชนนับล้านจะได้เข้ามาถือหุ้น ทำให้ตลาดหุ้นมีสินค้าหลากหลายขึ้น (หมายเหตุ : กรณ์ขอตัวออกจากการอภิปรายก่อน จึงพลาดโอกาสตอบคำถามเรื่องภาษีหุ้น)
“พิสิฐ ลี้อาธรรม” จาก “ประชาธิปัตย์” เห็นว่าประเทศไทยเสียหายจากการคดโกงมามากแล้ว ประชาธิปัตย์มีชวน หลีกภัยเป็นต้นแบบ ไม่ซื้อเสียงและมีแผนแก้กฎหมายให้การติดสินบนมีโทษถึงประหารชีวิต สนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญปี 60 ให้ยึดโยงประชาชนแต่ไม่แก้มาตราเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ นอกจากนั้น จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ในฐานะ รมว.พาณิชย์ ยังทำผลงานดันส่งออกไทยสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ พร้อมนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีที่ไม่ถูกข้าราชการหลอกแน่ ส่วนเรื่องภาษีหุ้นมีแนวโน้มไม่จัดเก็บ
“ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” จาก “พลังประชารัฐ” ปิดท้ายจะเลือกพรรคใดควรตั้งคำถาม 1.จะเลือกผลงาน 8 ปีที่ผ่านมาหรือเปลี่ยนแปลง 2.จะเลือกการแบ่งฝ่ายหรือก้าวข้ามความขัดแย้ง 3.จะสร้างหนี้เพื่ออุดหนุนการบริโภคหรืออุดหนุนการหารายได้ที่ยั่งยืน 4.จะเลือกการแบ่งประโยชน์ให้เอกชนมากกว่าหรือเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง 5.จะสร้างนิสัยให้ประชาชนพึ่งพารัฐหรือกระตุ้นให้พึ่งตนเอง ทีมที่รอบรู้และมีความพร้อมคือพลังประชารัฐ ส่วนเรื่องภาษีหุ้นนั้น พรรคยังไม่มีนโยบายเรื่องนี้ แต่ส่วนตัวคิดว่าควรเก็บภาษีจากการขาย Transaction Tax.
ศุภิกา ยิ้มละมัย