นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯได้ดำเนินการต่ออายุเครื่องหมายการค้าข้าวหอมมะลิของกรมฯ ประกอบด้วย เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย และเครื่องหมายการค้า “HOM MALI” ที่ได้จดทะเบียนกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาของไทยตั้งแต่ปี 2534 และปี 2541 ตามลำดับ รวมถึงได้จดทะเบียนเพื่อคุ้มครองในประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวม 48 ประเทศ ซึ่งต้องต่ออายุทุกๆ 10 ปี และในปี 2566 อยู่ระหว่างการต่ออายุใน 8 ประเทศ ได้แก่ ตุรกี คูเวต สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ออสเตรีย ญี่ปุ่น สวีเดน สิงคโปร์ และเวียดนาม ส่วนปี 2565 ได้ต่ออายุแล้วใน 12 ประเทศ ได้แก่ สหราชอาณาจักร ไอร์แลนด์ แอฟริกาใต้ ฮังการี โปแลนด์ เดนมาร์ก อิสราเอล สวิตเซอร์แลนด์ สเปน เบเนลักซ์ ไอซ์แลนด์ และแคนาดา
“การต่ออายุเครื่องหมายดังกล่าว เพื่อรับความคุ้มครองเครื่องหมายทั้งในและต่างประเทศ ไม่ให้ผู้อื่นละเมิด หรือทำเลียนแบบเครื่องหมาย หรือแอบอ้างนำเครื่องหมายไปใช้ประชาสัมพันธ์ข้าวของตนเอง ทั้งๆที่ไม่ได้เป็นข้าวหอมมะลิไทยแท้ หรือปลอมปนข้าวชนิดอื่น ซึ่งจะทำให้ลูกค้าหลงเชื่อว่าเป็นข้าวหอมมะลิจากไทย และอาจทำให้ข้าวหอมมะลิไทยเสียภาพลักษณ์อันดีได้ หรือเสียตลาดได้”
นอกจากนี้ ยังขอให้หน่วยงานของกระทรวงพาณิชย์ในต่างประเทศ เฝ้าระวังการปลอมปนข้าวหอมมะลิไทย หรือการละเมิดเครื่องหมายและดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายเมื่อพบการละเมิดเครื่องหมายนี้ด้วย ขณะเดียวกัน จะประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานในต่างประเทศของกระทรวงพาณิชย์ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและการประชาสัมพันธ์ข้าวหอมมะลิไทยให้เป็นที่รู้จักในตลาดต่างประเทศ และเป็นการขยายฐานข้อมูลเครื่องหมายการค้าของผู้ส่งออกข้าวหอมมะลิไทย โดยเปิดให้ผู้ส่งออกข้าวหอมมะลิไทยที่ได้รับเครื่องหมายรับรอง แจ้งชื่อมายังกรม เพื่อเป็นฐานข้อมูลให้กับผู้ซื้อในต่างประเทศได้ทราบว่า หากต้องการซื้อข้าวหอมมะลิไทยแท้ๆ ต้องซื้อจากผู้ส่งออกรายใด ซึ่งจะเป็นการตอกย้ำความเป็นสินค้าข้าวพรีเมียมที่มีคุณภาพมาตรฐานจากประเทศไทยหนึ่งเดียวในโลก และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ซื้อและผู้บริโภคให้ขยายฐานการตลาดในวงกว้างยิ่งขึ้น
สำหรับเครื่องหมายการค้าดังกล่าว เป็นเครื่องหมายรับรองคุณภาพ มาตรฐานของข้าวหอมมะลิไทย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาเครื่องหมายดังกล่าว มักถูกละเมิดในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่นิยมบริโภคข้าวหอมมะลิไทย กรมฯจึงต้องจด ทะเบียนเพื่อขอรับความคุ้มครองในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะตลาดส่งออกสำคัญของข้าวหอมมะลิไทย เพื่อไม่ให้ถูกละเมิด หรือผู้อื่นแอบอ้างนำเครื่องหมายไปใช้กับข้าวของตนเอง ทั้งๆที่ไม่ได้เป็นข้าวหอมมะลิไทยแท้ ซึ่งอาจมีผลทำให้ภาพลักษณ์ข้าวหอมมะลิไทยเสียหาย และอาจสูญเสียตลาดในที่สุด.