ธปท.วิ่งสู้ฟัดสกัดโจรออนไลน์ ออกกฎเข้ม! โอนเงินทางมือถือเกิน 5 หมื่นต้องสแกนใบหน้า

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ธปท.วิ่งสู้ฟัดสกัดโจรออนไลน์ ออกกฎเข้ม! โอนเงินทางมือถือเกิน 5 หมื่นต้องสแกนใบหน้า

Date Time: 10 มี.ค. 2566 06:01 น.

Summary

  • แบงก์ชาติออกชุดมาตรการปราบภัยทุจริตทางการเงิน ห้ามแบงก์ส่ง SMS อีเมล และงดส่งลิงก์ขอข้อมูลสำคัญของลูกค้า ใช้ 1 โมบายแบงกิ้ง ต่อ 1 อุปกรณ์ โอนเงินเกิน 50,000 บาท ต้องสแกนใบหน้า

Latest

ล้อมคอกรถโดยสารสาธารณะยึดมาตรฐาน "UN”

แบงก์ชาติออกชุดมาตรการปราบภัยทุจริตทางการเงิน ห้ามแบงก์ส่ง SMS อีเมล และงดส่งลิงก์ขอข้อมูลสำคัญของลูกค้า ใช้ 1 โมบายแบงกิ้ง ต่อ 1 อุปกรณ์ โอนเงินเกิน 50,000 บาท ต้องสแกนใบหน้า แยกสายด่วนรับเรื่องภัยการเงินต้องมีคนรับสาย 24 ชม.

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ได้ติดตามปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนโดยไม่ได้นิ่งนอนใจ จากที่กำลังมีภัยทุจริตทางการเงินยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจึงได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหา และออกชุดมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงินที่ดูแลตลอดเส้นทางการทำธุรกรรมทางการเงิน กำหนดเป็นแนวปฏิบัติขั้นต่ำให้สถาบันการเงินทุกแห่งปฏิบัติเป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยคาดหวังที่จะทำให้อาชญากรรมไซเบอร์ลดลงได้ ยกระดับความปลอดภัยและความมั่นใจในการทำธุรกรรมการเงินมากขึ้น

ด้าน น.ส.สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธปท. กล่าวว่า ชุดมาตรการ แบ่งเป็น 3 เรื่องด้วยกัน ประกอบด้วย 1.มาตรการปิดช่องทางมิจฉาชีพเข้าถึงประชาชน 7 ข้อ คือ 1.ให้สถาบันการเงินงดการส่งลิงก์ทุกประเภทผ่าน SMS อีเมล 2.ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปิดกั้น SMS และเบอร์คอลเซ็นเตอร์ที่แอบอ้างเป็นธนาคาร รวมทั้งปิดเว็บไซต์หลอกลวง 3. จำกัดจำนวนบัญชีผู้ใช้งานโมบายแบงกิ้งให้ใช้ได้ 1 อุปกรณ์เท่านั้น เพื่อไม่ให้มิจฉาชีพใช้อุปกรณ์อื่นทำธุรกรรมทางการเงินแทน

4. สถาบันการเงินต้องแจ้งเตือนผู้ใช้โมบาย แบงกิ้งก่อนทำธุรกรรมทุกครั้ง เพื่อสะกิดเตือนลูกค้าให้นึกถึงความเสี่ยง 5.พัฒนาระบบความปลอดภัยบนโมบายแบงกิ้งให้เท่าทันภัยการเงินรูปแบบใหม่ตลอดเวลา 6.ยกระดับความเข้มงวดในกระบวนการยืนยันตัวตนขั้นต่ำ ด้วยการให้สแกนใบหน้า กรณีขอเปิดบัญชีผ่านแอปพลิเคชันธนาคาร หรือโอนเงินทางโมบายแบงกิ้ง มากกว่า 50,000 บาท หรือ การปรับเพิ่มวงเงินต่อวันเป็นตั้งแต่ 50,000 บาท ขึ้นไป นอกจากนี้ จะกำหนดเพดานวงเงินถอน/โอนสูงสุดต่อวันตามระดับความเสี่ยงของผู้ใช้บริการ เช่น ลูกค้าปกติไม่เกิน 200,000 บาทต่อวัน ขณะที่กลุ่มเปราะบาง เช่นเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ไม่เกิน 50,000 บาทต่อวัน โดยลูกค้าขอปรับได้ และต้องยืนยันตัวตนอย่างเข้มงวด

สำหรับมาตรการที่ 2 เป็นการตรวจจับและติดตามบัญชี หรือธุรกรรมต้องสงสัย เพื่อช่วยจำกัดความเสียหายได้เร็วขึ้น และลดการใช้บัญชีม้า 3 ข้อ 1.ธปท.จะกำหนดเงื่อนไขการตรวจจับและติดตามธุรกรรมเข้าข่ายผิดปกติ หรือกระทำความผิด เพื่อให้สถาบันการเงินรายงานไปสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) 2.สถาบันการเงินต้องมีระบบตรวจจับและติดตามบัญชี หรือธุรกรรมต้องสงสัยแบบ near real-time เพื่อระงับธุรกรรมได้ทันทีเป็นการชั่วคราว 3.จัดให้มีช่องทางแจ้งความออนไลน์

มาตรการที่ 3 มาตรการตอบสนองและรับมือเพื่อจัดการปัญหาให้ผู้เสียหายได้เร็วขึ้น 3 ข้อ คือ 1.ให้สถาบันการเงินทุกแห่งมีช่องทางติดต่อเร่งด่วน (ฮอตไลน์) ตลอด 24 ชั่วโมง แยกจากช่องทางให้บริการปกติ และไม่ใช่การติดต่อกับ AI 2.ธนาคารต้องสนับสนุนการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อติดตามหาสาเหตุและผู้กระทำผิด รวมทั้งติดตามเงินของลูกค้า 3.ดูแลรับผิดชอบผู้ใช้บริการ หากพบว่าความเสียหายเกิดจากข้อบกพร่องของสถาบันการเงิน โดยการคืนเงินเป็นกรณีๆ อย่างไรก็ตาม การอายัดบัญชีได้ทันที และการกำหนดโทษผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับบัญชีม้าที่ชัดเจน ต้องรอให้ พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีผ่านสภาก่อน

นายภิญโญ ตรีเพชราภรณ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายกำกับและตรวจสอบความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ธปท. กล่าวว่า ในปี 2565 ความเสียหายผ่านโมบายแบงกิ้ง คิดเป็นมูลค่า 274.39 ล้านบาท ความเสียหายจากแอปดูดเงิน 500 ล้านบาท นอกจากนั้น จากข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่ 1 มี.ค.-31 มี.ค.2565 พบการหลอกให้ซื้อสินค้าออนไลน์กว่า 50,000 รายการ หลอกลวงให้โอนเงิน 20,000 กว่ารายการ หลอกให้กู้เงินกว่า 18,000 รายการ ความเสียหายจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ 13,000 คดี คิดเป็นวงเงิน 2,600 กว่าล้านบาท มีการขออายัดบัญชีม้า 58,000 บัญชี วงเงิน 5,500 ล้านบาท.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ