ครม.จัดเต็ม 8 หมื่นล้านผ่านงบ ลดภาษี ครม.วางแผนใช้จ่ายล่วงหน้ารับมือช่วงยุบสภา

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ครม.จัดเต็ม 8 หมื่นล้านผ่านงบ ลดภาษี ครม.วางแผนใช้จ่ายล่วงหน้ารับมือช่วงยุบสภา

Date Time: 8 มี.ค. 2566 07:28 น.

Summary

  • ครม.ไล่อนุมัติโครงการที่ต้องใช้เงินและผูกพันไปถึงรัฐบาลหน้าก่อนยุบสภา รวม 80,395 ล้านบาท แบ่งเป็นงบกลาง 12,242 ล้านบาท งบเพิ่มเงิน อสม. อสส. 13,081 ล้านบาท

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

ครม.ไล่อนุมัติโครงการที่ต้องใช้เงินและผูกพันไปถึงรัฐบาลหน้าก่อนยุบสภา รวม 80,395 ล้านบาท แบ่งเป็นงบกลาง 12,242 ล้านบาท งบเพิ่มเงิน อสม. อสส. 13,081 ล้านบาท และยกเว้นภาษีทำให้สูญรายได้ 55,072 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 7 มี.ค.2565 ได้อนุมัติโครงการต่างๆที่เกี่ยวข้องกับวงเงินงบประมาณ รวมทั้งสิ้น 68,652 ล้านบาท เพราะเป็นช่วงปลายรัฐบาลต้องเร่งอนุมัติ เพราะหากมีการยุบสภาไปแล้ว รัฐบาลรักษาการจะไม่สามารถอนุมัติการใช้งบประมาณที่ผูกพันไปถึงรัฐบาลหน้าได้ โดยล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่า จะมีการประชุม ครม.อีกเพียง 1-2 ครั้ง ก่อนการยุบสภา

โดยการอนุมัติครั้งนี้ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ 1.งบกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 12,242 ล้านบาท ประกอบด้วย อนุมัติ 3,191 ล้านบาท ให้การไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเป็นค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้าประจำเดือน ม.ค.-เม.ย.2566 เพื่อให้ส่วนลดอัตราค่าไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน โดยเป็นกรอบวงเงินการไฟฟ้านครหลวง 517 ล้านบาท และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 2,673 ล้านบาท เพื่อบรรเทาผลกระทบในการลดภาระค่าครองชีพให้ผู้ใช้ไฟฟ้าที่เป็นกลุ่มเปราะบาง

ขณะเดียวกัน ได้อนุมัติโครงการส่งเสริมการลดต้นทุนการผลิตข้าวรักษ์โลก BCG Model วงเงิน 874 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายจัดหาปัจจัยการผลิตและเครื่องจักรกลการเกษตรตามแผนความต้องการของศูนย์ข้าวชุมชน 292 ศูนย์ พื้นที่เป้าหมาย 58,400 ไร่ และพื้นที่ให้บริการ 60 ล้านไร่ ขณะที่อนุมัติวงเงิน 8,171 ล้านบาท เพื่อก่อสร้าง/ปรับปรุง ซ่อมแซมถนน แหล่งกักเก็บน้ำ หรือสิ่งสาธารณประโยชน์อื่นๆที่อยู่ในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งได้รับความเสียหายจากสาธารณภัย 2,765 โครงการ ใน 67 จังหวัด ครอบคลุมทั้งในระดับ อบจ. เทศบาลนคร เทศบาลเมือง เทศบาลตำบล และ อบต.

2.ครม.อนุมัติให้มีการจัดทำงบประมาณเพิ่มเติมในปี 2567 ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข 13,081 ล้านบาท เพื่อเพิ่มค่าป่วยการอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) จากเดิมเดือนละ 1,000 บาทต่อคน เป็นเดือนละ 2,000 บาทต่อคน เริ่มต้นวันที่ 1 ต.ค.2566 หรือเริ่มในต้นปีงบประมาณ 2567 จะใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น 13,081 ล้านบาท

3.การอนุมัติที่มีผลให้ภาครัฐสูญเสียรายได้มี 4 เรื่อง รวมวงเงิน 55,072 ล้านบาท ได้แก่ การขยายเวลายกเว้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล และน้ำมันเตาที่นำไปใช้ผลิตไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อลดต้นทุนการผลิต ในช่วงที่ราคาเชื้อเพลิงมีราคาแพงไปอีก 6 เดือน (16 มี.ค.-15 ก.ย.66) รวมสูญเสียรายได้ 8,050 ล้านบาท และอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.ก.ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับเงินได้และมูลค่าของฐานภาษี (รายได้จากการขายลบต้นทุน) จากการระดมทุนผ่านเสนอการขายโทเคนดิจิทัลให้ประชาชน (ICO) และยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มการโอนขายโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค.2561 เป็นต้นไป โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) คาดว่าในช่วงปี 2566-2567 จะมีการออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลมูลค่ารวม 128,000 ล้านบาท คิดเป็นภาษีเงินได้นิติบุคคล 25,600 ล้านบาท ภาษีมูลค่าเพิ่ม 8,960 ล้านบาท ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ 35,279 ล้านบาท

นอกจากนั้น ยังอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.ก.ยกเว้นเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินอุดหนุนตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าและประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ สำหรับเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนที่ได้รับเป็นเงินอุดหนุนจากรัฐตามมาตรการดังกล่าว เป็นเงินได้ที่ได้รับการยกเว้นโดยไม่ต้องนำมาคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งคลังประมาณการจากการจ่ายเงินอุดหนุนตามมาตรการดังกล่าว ตั้งแต่ปี พ.ศ.2565-2568 ทั้งสิ้น 43,000 ล้านบาท คิดเป็นรายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคลที่จะสูญเสีย 8,600 ล้านบาท ขณะที่การยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าหรือเรือแบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ 9 รายการ ตั้งแต่วันที่ประกาศนี้ใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธ.ค.2568 คาดรัฐอาจจะสูญเสียรายได้จากอากรขาเข้าโดยเฉลี่ย 3,143 ล้านบาทต่อปี.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ