ไทยคมจ่อยิงดาวเทียมใหม่ 4 ดวง ดันรายได้โตปีละ 10% ขยับขึ้นท็อปเทนโลก

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ไทยคมจ่อยิงดาวเทียมใหม่ 4 ดวง ดันรายได้โตปีละ 10% ขยับขึ้นท็อปเทนโลก

Date Time: 4 มี.ค. 2566 06:18 น.

Summary

  • ไทยคมจัดคิวยิงดาวเทียมอย่างน้อย 4 ดวงภายใน 3 ปีข้างหน้า ตามเงื่อนไขใบอนุญาต เชื่อมั่นการมีดาวเทียมดวงใหม่ทยอยขึ้นสู่วงโคจร จะทำให้รายได้โตปีละ 10% และขยับขึ้นเป็นผู้ให้บริการดาวเทียมท็อปเทน

Latest

“พิชัย” เปิดเวทีชวนนักลงทุนเข้าไทย

ไทยคมจัดคิวยิงดาวเทียมอย่างน้อย 4 ดวงภายใน 3 ปีข้างหน้า ตามเงื่อนไขใบอนุญาต เชื่อมั่นการมีดาวเทียมดวงใหม่ทยอยขึ้นสู่วงโคจร จะทำให้รายได้โตปีละ 10% และขยับขึ้นเป็นผู้ให้บริการดาวเทียมท็อปเทนของโลก

นายปฐมภพ สุวรรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หลังจากที่ไทยคมได้ชนะการประมูลสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมที่จัดโดยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในนามบริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด (STI) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของไทยคมนั้น มีแผนยิงดาวเทียมอย่างน้อย 4 ดวงในช่วง 3 ปีข้างหน้า เพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขใบอนุญาตที่กำหนดให้ต้องยิงดาวเทียมภายใน 3 ปี ซึ่งการกลับมาเดินหน้าธุรกิจได้อีกครั้ง จะได้ทำให้ไทยคมผงาดขึ้นสู่การเป็นผู้ให้บริการดาวเทียม 1 ใน 10 อันดับแรกของโลก โดยขยับจากอันดับปัจจุบันที่ 1 ใน 15 อันดับแรกของโลก

“ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าเราไม่สามารถเดินหน้าธุรกิจได้ตามแผนเราเหลือดาวเทียมแค่ 2 ดวงคือไทยคม 7 และ 8 ขณะที่สัมปทานดาวเทียมไทยคม 4 และไทยคม 6 หมดอายุไปตั้งแต่ปี 2564 และเพิ่งได้ประมูลสิทธิเข้าใช้วงโคจรใหม่ไปเมื่อวันที่ 15 ม.ค.2566 ที่ผ่านมา ความล่าช้านี้ทำให้เราวางแผนทำตลาดไม่ได้ ลูกค้าสูญเสียความเชื่อมั่น พอเขารู้ว่าเรามีวงโคจรและคลื่นความถี่พร้อมแล้ว ลูกค้ากว่า 89% ก็แสดงเจตจำนงที่จะใช้บริการของไทยคมต่อไป”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 15 ม.ค.2566 ไทยคมชนะการประมูลสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมจำนวน 2 ชุด ได้แก่ ชุดข่ายงานดาวเทียมที่ 2 ตำแหน่งวงโคจร 78.5 องศาตะวันออก มูลค่า 380 ล้านบาท และชุดที่ 3 ตำแหน่งวงโคจร 119.5 องศาตะวันออก มูลค่า 417 ล้านบาท หลังการประมูลถูกเลื่อนออกไปถึง 2 ครั้ง เนื่องจากจำนวนผู้เข้าประมูลไม่มากพอ

ความสำเร็จในครั้งนี้ทำให้ไทยคมสามารถลืมตาอ้าปากได้อีกครั้ง ประกอบกับการปรับโครงสร้าง ผู้ถือหุ้นใหม่ โดยบริษัทลูกของบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ได้เข้าซื้อหุ้นไทยคมในสัดส่วน 41.13% จากบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ทำให้กัลฟ์กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และเปลี่ยนไทยคมให้เป็นบริษัทสัญชาติไทย จากเดิมมีทุนสิงคโปร์ถือหุ้นใหญ่ ทำให้บรรยากาศการทำธุรกิจของไทยคมดีขึ้นอย่างชัดเจน ดูได้จากราคาหุ้นที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่องหลังจากการประกาศเข้าซื้อหุ้นไทยคมของกัลฟ์ตั้งแต่เดือน พ.ย.2565 เป็นต้นมา โดยราคาที่กัลฟ์ซื้อหุ้นไทยคมจากอินทัชอยู่ที่หุ้นละ 9.92 บาท ต่ำกว่าราคาตลาดในวันที่มีการแจ้งการเข้าซื้อหุ้นเมื่อวันที่ 7 พ.ย.2565 ซึ่งอยู่ที่ 12.30 บาท โดย ณ วันที่ 3 มี.ค.2566 หุ้นไทยคมปิดตลาดที่ 14.30 บาท

นายปฐมภพ กล่าวอีกว่า ไทยคมยังได้ขออนุมัติวงเงินลงทุนจากบอร์ดบริษัทจำนวนไม่เกิน 15,203 ล้านบาทภายใต้แผนยิงดาวเทียมบรอดแบนด์ 3 ดวง ซึ่งอาจเป็น 2 ดวงเล็กและ 1 ดวงใหญ่ ในวงโคจร 119.5 องศาตะวันออก ซึ่งถือเป็นตำแหน่งที่เหมาะสมในการทำตลาดครอบคลุมภูมิภาคเอเชียตะวันออก เฉียงใต้ เอเชียเหนือ ออสเตรเลีย และภูมิภาคอินโดจีน โดยจะเริ่มจากการยิงดาวเทียมดวงเล็กก่อนเพราะใช้เวลาสร้างเพียง 18 เดือน เทียบกับการสร้างดาวเทียมดวงใหญ่ซึ่งใช้เวลา 4 ปี ส่วนตำแหน่งวงโคจร 78.5 องศาตะวันออกนั้น คาดว่าแผนยิงดาวเทียมจะมีความชัดเจนภายใน 1 ปี โดยอย่างน้อยต้องยิงดาวเทียมให้ได้ 1 ดวงภายใน 3 ปี หลังได้รับใบอนุญาต

แผนการยิงดาวเทียมที่เดินหน้าได้เต็มพิกัดดังกล่าว จะทำให้รายได้ของไทยคมเติบโตได้เฉลี่ยปีละ 10% ซึ่งการเติบโตของไทยคมจากนี้ไปจะอยู่ที่ 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ 1.ธุรกิจดาวเทียมที่ทำอยู่ ซึ่ง รวมทั้งดาวเทียมบรอดคาสต์และดาวเทียมบรอดแบนด์ 2.ธุรกิจดาวเทียมวงโคจรต่ำ หรือ LEO (LOW EARTH ORBIT SATELLITE) ซึ่งจะไม่ใช่การยิงดาวเทียมด้วยตัวเองแต่เป็นการให้บริการผ่านพันธมิตร 3.ธุรกิจเทคโนโลยีอวกาศหรือ Space Tech เช่น ดาวเทียมสำรวจด้วยภาพ (Earth Observation Satellite) ซึ่งเป็นแผนระยะยาวในอีก 3-5 ปีข้างหน้า

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารไทยคม กล่าวอีกว่า สำหรับชุดสิทธิวงโคจรดาวเทียมที่เหลืออีก 2 ชุด ซึ่งในการประมูลครั้งก่อนไม่มีผู้สนใจนั้น เนื่องจากตำแหน่งวงโคจรดังกล่าว ทำตลาดได้ค่อนข้างยากและยังมีปัญหาเทคนิคคาบเกี่ยวกับวงโคจรใช้งานของประเทศอื่นด้วย โดยหากต้องการให้มีการใช้งานวงโคจร เพราะหากไม่ใช้งานจะถูกยึดคืนไปให้ประเทศอื่นใช้นั้น กสทช.น่าจะต้องปรับเงื่อนไขใหม่ ส่วนตัวมองว่าใช้วิธีประกวดความงาม (Beauty Contest) แทนการประมูลน่าจะดี นอกจากได้รักษาสิทธิวงโคจรให้ประเทศไทยแล้ว กสทช.ยังได้ค่าธรรมเนียมจากใบอนุญาตด้วยแทนที่จะต้องเสียวงโคจรไปให้ประเทศอื่นเฉยๆ.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ