รวมบินไทย-ไทยสมายล์ลดต้นทุน มั่นใจปี 66 รายได้โต 30% ผงาดกลับมาบินทั่วโลก

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

รวมบินไทย-ไทยสมายล์ลดต้นทุน มั่นใจปี 66 รายได้โต 30% ผงาดกลับมาบินทั่วโลก

Date Time: 25 ก.พ. 2566 06:31 น.

Summary

  • “ปิยสวัสดิ์” เปิดแผน “บินไทย” ควบรวมกิจการกับ “ไทยสมายล์” มั่นใจช่วยลดต้นทุนได้ 30% พร้อมกลับมาบินเต็มรูปแบบทั้งในและต่างประเทศ ส่วนปี 66 คาดรายได้รวมโต30% เป็น 1.3–1.4 แสนล้านบาท จากปี 65

Latest

ล้อมคอกรถโดยสารสาธารณะยึดมาตรฐาน "UN”

“ปิยสวัสดิ์” เปิดแผน “บินไทย” ควบรวมกิจการกับ “ไทยสมายล์” มั่นใจช่วยลดต้นทุนได้ 30% พร้อมกลับมาบินเต็มรูปแบบทั้งในและต่างประเทศ ส่วนปี 66 คาดรายได้รวมโต30% เป็น 1.3–1.4 แสนล้านบาท จากปี 65 ที่มีรายได้รวม 1.05 แสนล้านบาท ขณะที่มีกระแสเงินสด แข็งแกร่งกว่า 4 หมื่นล้าน อาจไม่ต้องกู้เงินเพิ่ม เดินหน้าตามแผนเพิ่มทุน–แปลงหนี้เป็นทุน คลังจะถือหุ้นเหลือ 44% ทำให้ไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ หวังกลับเข้าเทรดในตลาดหุ้นต้นปี 68

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บมจ.การบินไทย (THAI) เปิดเผยว่า จากที่การบินไทยได้เดินตามแผนฟื้นฟูกิจการ ขณะนี้การบินไทยยังได้มีแผนปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ โดยได้มีการศึกษาที่จะควบรวมกิจการสายการบินไทยสมายล์ มาอยู่กับการบินไทย ซึ่งการควบรวมถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนการฟื้นฟูกิจการโดยเรื่องนี้อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อแก้ไขแผนธุรกิจภายใต้ยุทธศาสตร์การบริหารที่เป็นทีมเดียว ซึ่งจะใช้เวลาศึกษา 2 เดือน แล้วเสร็จช่วงเดือน พ.ค.66 จากนั้นจะนำเสนอคณะกรรมการเจ้าหนี้เพื่อขอความเห็นชอบ ก่อนนำเสนอนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ในฐานะที่เป็นประธานคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) เพื่อพิจารณาเห็นชอบการแก้ไขปรับปรุงแผนธุรกิจ คาดว่าสิ้นปี 66 นี้ การให้บริการทั้งเส้นทางบินทั้งในประเทศและต่างประเทศ จะมีเพียงการบินไทยให้บริการเพียงแบรนด์เดียว

นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการบินไทย กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องควบรวมกิจการ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารกิจการ การบริหารตาราง เวลาการบินให้สามารถทำการบินทั้งในและต่างประเทศ ในจุดบินที่การบินไทยเคยทำการบินทั้งหมด ซึ่งการควบรวมจะไม่ส่งผลกระทบต่อแผนการปรับปรุงธุรกิจของการบินไทย และจะไม่กระทบต่อผู้โดยสารที่ใช้บริการ ของสายการบินไทยสมายล์เดิม รวมถึงจะไม่กระทบต่อพนักงานไทยสมายล์ที่มีอยู่กว่า 800 คนแน่นอน เพราะจะมารวมกับการบินไทย ส่วนข้อดีของไทยสมายล์ จะทำให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารทรัพย์สินและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้เครื่องบิน จากปัจจุบันที่ไทยสมายล์บินอยู่ 9 ชั่วโมงต่อวันจะเพิ่มเป็น 12-13 ชั่วโมงต่อวัน ช่วยลดต้นทุนลงได้ราว 30% และส่งผล ให้การดำเนินงานปี 66 กลับมาเป็นบวก เนื่องจากผลการดำเนินงานของไทยสมายล์ปี 65ขาดทุนกว่า4,248 ล้านบาท และมีขาดทุนสะสมรวมกว่า 20,000ล้านบาท

นายชายยังได้กล่าวถึงทิศทางผลการดำเนินงานปี 66 ว่าบริษัทรวมบริษัทย่อย คาดว่าจะมีรายได้รวม 1.3-1.4 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 30% จากปี 65 ที่มีรายได้รวม 105,041 ล้านบาท และคาดว่าจะมีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 80% เนื่องจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยว รวมทั้งการปรับโครงสร้างธุรกิจและต้นทุนตามแผนฟื้นฟูฯเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยังได้ปัจจัยหนุนจากการเปิดประเทศจีน และการบินไทย ยังได้เพิ่มฝูงบินรองรับการกลับมาบินตามปกติในเส้นทางบินระหว่างประเทศ โดยเฉพาะยุโรป ออสเตรเลีย กลุ่มประเทศเอเชียเหนือ เช่น จีน ญี่ปุ่น ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทและบริษัทย่อยมีอากาศยานที่ใช้ทำการบินรวมทั้งสิ้น 64 ลำ แบ่งเป็นเครื่องบินการบินไทย 44 ลำ เครื่องบินไทยสมายล์ 20 ลำ และปี 66บินไทย มีแผนรับมอบอากาศยานรุ่น A 350 เพิ่ม 6 ลำ โดยจะเป็นการเช่าดำเนินการ และซ่อมบำรุงโบอิ้ง 777-200ER อีก 1 ลำ ซึ่งจะส่งผลให้บินไทยมีฝูงบินเพิ่มเป็น 71 ลำในปีนี้ ช่วยเสริมสภาพคล่องการบินได้อย่างดี ขณะที่ตารางการบินฤดูร้อนปี 66 การบินไทยให้บริการเที่ยวบินสู่ 39 เส้นทางบินทั่วโลก

นายชาย กล่าวว่า ส่วนผลการดำเนินงานปี 65 บริษัทการบินไทยและบริษัทย่อยขาดทุนสุทธิ 252 ล้านบาท ลดลง 101% เมื่อเทียบกับปี 64 ที่มีกำไรสุทธิ 55,113 ล้านบาท เนื่องจากผลการดำเนินงานของบริษัทย่อย โดยเฉพาะบริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด ซึ่งมีผลขาดทุน 4,248 ล้านบาท อย่างไรก็ตามผลการดำเนินงานดังกล่าวยังอยู่ในระดับที่ดีกว่าประมาณการในแผนฟื้นฟูกิจการ มีกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) อยู่ที่ 17,241 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 736% และมีกระแสเงินสดที่ 34,540 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 526% ซึ่งจากการที่กระแสเงินสดเพิ่มขึ้นก็อาจไม่จำเป็นต้องกู้เงินตามแผนฟื้นฟูวงเงิน 25,000 ล้านบาท

“ถ้านับกระแสเงินสด สิ้นเดือน ก.พ.66 บริษัท และบริษัทย่อยมีกระแสเงินสดกว่า 40,000 ล้านบาท และแนวโน้มผลประกอบการที่ดีขึ้น ทำให้ความจำเป็นในการใช้เงินกู้ก้อนใหม่ลดลง โดยต้องการให้เจ้าหนี้ใหม่มาใช้สิทธิแปลงหนี้เป็นทุนมากกว่าการกู้เงิน ซึ่งจะช่วยให้ส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นบวกเร็วขึ้น ซึ่งเรื่องการกู้เงินจะมีความชัดเจนกลางปีนี้ ขณะที่การปรับโครงสร้างทุนที่มีทั้งการแปลงหนี้เป็นทุน การขายหุ้น เพิ่มทุนให้ผู้ถือหุ้นเดิมคาดว่าจะทำได้ครึ่งหลังปี 67 โดยกระทรวงการคลังจะใช้สิทธิเต็มในการแปลงหนี้เป็นทุนและซื้อหุ้นเพิ่มทุน โดยหลังปรับโครงสร้างทุนใหม่ กระทรวงการคลังจะถือหุ้น 44% ทำให้การบินไทยไม่กลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจอีกต่อไป และจะทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นบวก จากนั้นก็จะออกจากแผนฟื้นฟู และคาดว่าหุ้นการบินไทยจะกลับเข้าไปซื้อขายในตลาดหุ้นได้ต้นปี 68”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ