“พาณิชย์” เปิดแผนสินค้าจีไอปี 2566 เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นไทย-รายได้ยั่งยืน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

“พาณิชย์” เปิดแผนสินค้าจีไอปี 2566 เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นไทย-รายได้ยั่งยืน

Date Time: 23 ก.พ. 2566 07:53 น.

Summary

  • พาณิชย์เปิดแผนผลักดันสินค้าท้องถิ่นไทยปี 66 เตรียมรับขึ้นทะเบียน “สินค้าจีไอ” อีก 19 สินค้า ยื่นคำขอในต่างประเทศ 1 คำขอ เปิดทางสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นไทย

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

พาณิชย์เปิดแผนผลักดันสินค้าท้องถิ่นไทยปี 66 เตรียมรับขึ้นทะเบียน “สินค้าจีไอ” อีก 19 สินค้า ยื่นคำขอในต่างประเทศ 1 คำขอ เปิดทางสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นไทย เชื่อสามารถป้องกันละเมิด มั่นใจผู้ผลิตมีรายได้มั่นคง ยั่งยืน หลังปี 65 ที่ผ่านมามูลค่าตลาดทะลุ 4.8 หมื่นล้านบาท

นายสินิตย์ เลิศไกร รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ประสบความสำเร็จในการผลักดันให้ท้องถิ่นทั่วประเทศ นำสินค้าที่ผลิตได้เฉพาะในท้องถิ่นมาขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) ทำให้ล่าสุดมีสินค้าท้องถิ่นขึ้นทะเบียนจีไอในประเทศแล้ว 177 สินค้า ครอบคลุม 77 จังหวัด สร้างมูลค่าการตลาดกว่า 48,000 ล้านบาท และยังผลักดันให้จีไอไทยขึ้นทะเบียนในประเทศ ที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทยแล้วกว่า 30 ประเทศ 8 สินค้า ทั้งสหภาพยุโรป อินเดีย อินโดนีเซีย กัมพูชา เวียดนาม ได้แก่ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง กาแฟดอยช้าง กาแฟดอยตุง เส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสาน ผ้าไหมยกดอกลำพูน มะขามหวานเพชรบูรณ์ และลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน

“จีไอ” เพิ่มมูลค่าสินค้าหลายเท่า

“บางคนอาจยังไม่รู้ว่าสินค้า “จีไอ” คืออะไร ขอทำความเข้าใจตรงนี้ว่า จีไอเป็นสินค้าที่มาจากแหล่งผลิตเฉพาะเจาะจง หรือผลิตจากท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่งเท่านั้น เป็นผลจากภูมิปัญญาเฉพาะ หรือลักษณะทางภูมิศาสตร์เฉพาะของท้องถิ่นนั้น เช่น ดิน อากาศ แร่ธาตุ ทำให้ได้สินค้าที่มีลักษณะ รสชาติเฉพาะ ที่สินค้าแบบเดียวกันจากท้องถิ่นอื่นไม่มี และเลียนแบบไม่ได้ จีไอจึงเสมือนเป็น “แบรนด์” ของท้องถิ่นที่บ่งบอกถึงคุณภาพ แหล่งที่มาของสินค้า”

นายสินิตย์กล่าวด้วยว่า หากสังเกตให้ดีสินค้าจีไอจะมีชื่อหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ หรือจังหวัด ที่เป็นแหล่งผลิตห้อยท้ายเสมอ อย่างข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ มีคำว่า “ทุ่งกุลาร้องไห้” ซึ่งเป็นทุ่งขนาดใหญ่ในภาคอีสานอยู่ในเขต 5 จังหวัด ได้แก่ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร ศรีสะเกษ และสุรินทร์ ทั้งนี้ การขึ้นทะเบียนจีไอจะเกิดประโยชน์กับทั้งผู้ผลิต และผู้บริโภค โดยผู้ผลิตจะได้รับความคุ้มครอง คนท้องถิ่นอื่นที่ผลิตสินค้าแบบเดียวกัน เอาชื่อจีไอไปใช้โปรโมตสินค้าตนเองไม่ได้ จะเป็นการละเมิด มีโทษตาม พ.ร.บ.คุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ.2546 และยังช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าได้หลายเท่า เพราะเป็นของดี มีคุณภาพ เป็นของหายากของท้องถิ่น ช่วยยกระดับรายได้ท้องถิ่น

ส่วนผู้ผลิตต้องรักษาคุณภาพ มาตรฐานของสินค้า เพื่อคงไว้ซึ่งภาพลักษณ์ และชื่อเสียงของสินค้า ส่งผลให้ขยายตลาดได้ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงยังเปิดแหล่งผลิตเป็นแหล่งที่ท่องเที่ยว เพิ่มรายได้ชุมชนได้อีก ขณะที่ผู้บริโภคจะมีความเชื่อมั่นบริโภคมากขึ้น เพราะสินค้าจีไอจะมีตราสัญลักษณ์รับรองติดไว้ที่ตัวสินค้า เป็นการการันตีคุณภาพ มาตรฐานสินค้า

ปี 66 รับขึ้นทะเบียน 19 สินค้า

สำหรับปี 66 นายสินิตย์ กล่าวว่า กรมยังผลักดันสินค้าจีไอต่อเนื่อง โดยมีแผนจะรับขึ้นทะเบียนเพิ่มอีก 19 สินค้า เช่น ปลาเม็งสุราษฎร์ธานี ทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา ไก่เบตงยะลา ปลาทูแม่กลอง เกลือสมุทรแม่กลอง มะม่วงน้ำดอกไม้บ้านโหล่น กล้วยหอมทองหนองบัวแดง เป็นต้น

นอกจากนี้ จะลงพื้นที่แหล่งผลิตสินค้าใหม่ๆที่มีศักยภาพจะขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าจีไอ เพื่อศึกษาข้อเท็จจริงการผลิต จัดประชุมให้ความรู้แก่ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีสินค้าที่มีศักยภาพ 33 สินค้า จาก 10 จังหวัด เช่น ลิ้นจี่จักรพรรดิฝาง ส้มสายน้ำผึ้งโป่งน้ำร้อนฝาง เชียงใหม่, ส้มโชกุน จ.ยะลา, ผ้าฝ้ายตะหลุงมุกดาหาร ปลานิลแม่น้ำโขงมุกดาหาร มุกดาหาร เป็นต้น

ขณะเดียวกัน จะจัดทำคำขอขึ้นทะเบียนจีไอเพื่อขอรับความคุ้มครองในประเทศ โดยพิจารณาตามที่จังหวัดเสนอมา และตามเกณฑ์ที่กำหนด รวม 7 คำขอ จาก 5 จังหวัด ได้แก่ เสื่อกกนาหมอม้า อำนาจเจริญ, หินอ่อนพรานกระต่าย กำแพงเพชร, ปลิงทะเลพังงา พังงา, กาแฟดอยมูเซอตาก, ทุเรียนบางนรา นราธิวาส, ลิ้นจี่จักรพรรดิฝาง และส้มสายน้ำผึ้งฝาง เชียงใหม่ รวมถึงจัดทำคำขอขึ้นทะเบียนจีไอไทย เพื่อขอรับความคุ้มครองในต่างประเทศมีแผนจะยื่นในสหภาพยุโรป 1 คำขอ ส่วนจะเป็นสินค้าใดกำลังเลือกระหว่างมะพร้าวน้ำหอมราชบุรี พริกไทยจันท์ และผ้าไหมยกดอกลำพูน โดยพิจารณาจากการเป็นสินค้าจีไอไทย ใช้ตราสัญลักษณ์จีไอไทยต่อเนื่อง และส่งออกไปยุโรป

คุมคุณภาพ–ขยายช่องทางตลาด

ส่วนสินค้าที่ขึ้นทะเบียนจีไอแล้วกรมจะพัฒนาและยกระดับสินค้าเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้มากขึ้นอีก โดยจะคัดเลือกผู้ประกอบการจีไอที่มีศักยภาพ 10 รายมาเข้าร่วมอบรมพัฒนาสินค้า และบรรจุภัณฑ์ เพื่อยกระดับสินค้า, ส่งเสริมช่องทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ ทั้งตลาดออนไลน์ และออฟไลน์, จัดทำระบบควบคุมคุณภาพมาตรฐาน

“สินค้าจีไอจำเป็นต้องจัดทำระบบควบคุมคุณภาพมาตรฐาน เพื่อให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพสม่ำเสมอจะดำเนินการ 2 กิจกรรม คือจัดทำระบบควบคุมคุณภาพและมาตรฐาน 9 สินค้า 7 จังหวัด เช่น ผ้าไหมมัดหมี่ซิ่นตีนแดงบุรีรัมย์, พริกไทยตรัง, เผือกหอมบ้านหมอ สระบุรี, ผ้าไหมสาเกต ร้อยเอ็ด ฯลฯ”

รวมทั้งตรวจรับรองระบบควบคุมคุณภาพสินค้าจีไอไทยตามมาตรฐานสากล เพื่อให้ตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาสินค้าได้ทั้งกระบวนการ 6 สินค้า 9 จังหวัด ได้แก่ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้, กาแฟดอยตุง เชียงราย, ส้มโอทับทิมสยามปากพนัง นครศรีธรรมราช, ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง พัทลุง, มะขามหวานเพชรบูรณ์ เพชรบูรณ์ และทุเรียนปราจีน รวมถึงจัดทำฉลากสินค้าและบรรจุภัณฑ์ตราสัญลักษณ์จีไอไทยที่จะช่วยสร้างการรับรู้ และมูลค่าเพิ่ม รวม 9 สินค้า เช่น ผ้าไหมมัดหมี่ซิ่นตีนแดงบุรีรัมย์, เผือกหอมบ้านหมอ สระบุรี, พริกไทยตรัง, ปลากะพงสามน้ำทะเลสาบสงขลา ฯลฯ

“การขึ้นทะเบียนสินค้าจีไอจะช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร ผู้ผลิตในชุมชนอย่างมั่นคง ยั่งยืน สร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้แน่นอน”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ