สมัคร 22 ล้านรับสิทธิแค่ 14 ล้าน “บัตรคนจน” ส่อวุ่นเกณฑ์เข้มคนตกรอบระนาว

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

สมัคร 22 ล้านรับสิทธิแค่ 14 ล้าน “บัตรคนจน” ส่อวุ่นเกณฑ์เข้มคนตกรอบระนาว

Date Time: 22 ก.พ. 2566 07:07 น.

Summary

  • “บิ๊กตู่” ยันประกาศสิทธิบัตรคนจน 1 มี.ค.นี้ได้แน่ ขณะที่คลังสั่งเตรียมพร้อมแจงรายละเอียด หวั่น “บัตรคนจน” ส่อวุ่น หลังพิจารณาคุณสมบัติ ตกรอบสูงถึง 8 ล้านคน เหลือได้รับสิทธิเพียง 14 ล้านคน

Latest

ฟื้นเฟสใหม่ “เราเที่ยวด้วยกัน” “สรวงศ์” สั่ง ททท.ชงโครงการเสนอนายกฯอิ๊งค์

“บิ๊กตู่” ยันประกาศสิทธิบัตรคนจน 1 มี.ค.นี้ได้แน่ ขณะที่คลังสั่งเตรียมพร้อมแจงรายละเอียด หวั่น “บัตรคนจน” ส่อวุ่น หลังพิจารณาคุณสมบัติ ตกรอบสูงถึง 8 ล้านคน เหลือได้รับสิทธิเพียง 14 ล้านคน จาก 22 ล้านราย ที่สมัครเข้ามา ระบุคนไม่ผ่านมีสิทธิอุทธรณ์ได้ ด้าน ครม.ผ่านวงเงิน 1,500 ล้านบาทให้กองทุนฟื้นฟูฯ เคลียร์หนี้สินเกษตรกร

นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการติดตามความคืบหน้าโครงการสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 หรือบัตรคนจน พบว่า จำนวนผู้ไม่ผ่านหลักเกณฑ์ที่จะได้รับสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐมากถึง 40% ของจำนวนการลงทะเบียน จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงรายละเอียดของบุคคลที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาให้กระทรวงการคลังพิจารณาด้วย เพื่อสร้างความโปร่งใสและสามารถชี้แจงต่อผู้ไม่ผ่านคุณสมบัติได้

“จำนวนประชาชนที่มาลงทะเบียนรับสวัสดิการแห่งรัฐ รวม 22 ล้านคน คัดกรองเบื้องต้นผ่านคุณสมบัติ 19 ล้านคน และหลังจากนั้นได้คัดกรองคุณสมบัติอย่างเข้มข้น เชื่อมข้อมูลหน่วยงานราชการ 40 แห่ง ทำให้เหลือผู้ผ่านคุณสมบัติเพียง 14 ล้านคนเท่านั้น เมื่อนำจำนวนผู้ลงทะเบียนลบกับจำนวนผู้ผ่านเกณฑ์ ถือว่ามีผู้ไม่ผ่านเกณฑ์รับสวัสดิการมากถึง 8 ล้านคน และหากจะประกาศรายชื่อไปกังวลว่าจะเกิดความวุ่นวายในช่วงของการให้ยื่นอุทธรณ์ ดังนั้นจึงขอให้ส่วนงานที่เกี่ยวข้องเตรียมการให้พร้อม เพื่อรองรับความวุ่นวายที่อาจจะเกิดขึ้น”

ทั้งนี้ การจะประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติได้หรือไม่ในวันที่ 1 มี.ค.นี้นั้น นายสันติกล่าวต่อว่า จากการหารือเบื้องต้น คาดว่าจะประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติได้ 14 ล้านคน ส่วนอีก 8 ล้านคน ก็ต้องใช้ยื่นอุทธรณ์ข้อมูลเพิ่มเติม โดยได้สั่งการให้ธนาคารกรุงไทย ในฐานะผู้จัดทำระบบข้อมูลลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐทั้งหมด ต้องส่งข้อมูลของผู้ไม่ผ่านคุณสมบัติรับสวัสดิการแห่งรัฐมาให้กระทรวงการคลังด้วย เพื่อจะได้ตรวจสอบข้อมูลอีกครั้ง ถึงสาเหตุของการไม่ผ่านหลักเกณฑ์ เพื่อกระทรวงการคลังจะได้อธิบายให้ประชาชนที่ไม่ผ่านคุณสมบัติเข้าใจ

ทั้งนี้ ธนาคารกรุงไทย เป็นสถาบันการเงินที่รับจัดการระบบการลงทะเบียนเพื่อรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน โดยมีผู้ลงทะเบียนในรอบนี้รวม 22 ล้านคน ซึ่งในรอบแรกระบบของธนาคารกรุงไทย ได้คัดกรองคนที่ผ่านคุณสมบัติตามที่กำหนด จนเหลือคนเข้าเกณฑ์รับสิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 19 ล้านคน และเมื่อทำการคัดกรองขั้นสุดท้ายอย่างเข้มข้น ปรากฏว่าเหลือคนที่ผ่านการคัดกรองจำนวน 14 ล้านคนเท่านั้น

สำหรับคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คือ ผู้มีสัญชาติไทย อายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป โดยมีรายได้ไม่เกินปีละ 100,000 บาทต่อคน และรายได้เฉลี่ยของครอบครัวของผู้ลงทะเบียนไม่เกินปีละ 100,000 บาท และผู้ลงทะเบียนต้องไม่มีวงเงินกู้ หรือมีวงเงินกู้ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง แต่ไม่เกินหลักเกณฑ์ เช่น วงเงินกู้สำหรับที่อยู่อาศัยรวมไม่เกิน 1.5 ล้านบาท และวงเงินกู้สำหรับยานพาหนะรวมไม่เกิน 1 ล้านบาท และไม่มีบัตรเครดิต เป็นต้น

วันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกรณีที่ได้สั่งการให้กระทรวงการคลังเร่งดำเนินการลงทะเบียน โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐปี 2565 และโอนเงินให้ประชาชนให้ทันวันที่ 1 มี.ค.2566 ว่าในขณะนี้ยังคิดว่าน่าจะทัน เพราะอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบสิทธิให้เรียบร้อยเท่านั้น ซึ่งหลายอย่างมีการปรับแก้พอสมควร ทั้งของเก่าและที่เพิ่มขึ้นใหม่ ทั้งหมดก็ต้องตรวจสอบเพราะมีกติกาอยู่ และเราก็ได้ขยายกฎเกณฑ์กันพอสมควร โดยจะเห็นว่ายอดเพิ่มขึ้นได้ตลอดทุกปี ซึ่งไม่ใช่คนจนมากขึ้น แต่มีการปรับคุณสมบัติเดิมมีระดับรายได้เท่านี้แต่วันนี้เราขยายรายได้ให้มากขึ้น มันจึงต้องปรับตรงนี้ด้วยเพื่อให้เข้าถึง และมีความเป็นธรรม

ขณะเดียวกัน ครม.วานนี้ (21 ก.พ.) ยังได้อนุมัติดำเนินการเร่งแก้หนี้สินให้กับเกษตรกรเพิ่มเติม โดยนายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติวงเงินจำนวน 1,500 ล้านบาท ให้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เพื่อดำเนินการจัดการหนี้ให้แก่เกษตรกรสมาชิก โดยเฉพาะกรณีหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) และการจัดการทรัพย์สินที่ยึดมาจากลูกหนี้ (เอ็นพีเอ) โดยมีเกษตรกรกลุ่มเป้าหมาย 3,148 ราย

ทั้งนี้ เมื่อเกษตรกรที่ได้รับการจัดการหนี้สินเหล่านี้ จะต้องเข้าสู่แผนการฟื้นฟูอาชีพด้วย โดยนายกรัฐมนตรีได้สั่งการเพิ่มเติมในกรณีนี้ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบสิทธิให้ถูกต้อง รวมทั้งสั่งการให้มีการแก้ไขปัญหาหนี้ได้โดยเร็ว.

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ